‘กรุงไทย’แนะ SMEs ยกระดับมาตรฐานบัญชี

28 ก.ย. 2564 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 17:40 น.

กรุงไทยแจงเหตุ เอสเอ็มอีถูกปฏิเสธสินเชื่อ จากแผนธุรกิจไม่ชัด หนี้เก่าเยอะ แนะยกระดับมาตรฐานบัญชีและฐานข้อมูล เพิ่มโอกาสเข้าถึงสินเชื่อ

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผยในเวทีเสวนา “จับคู่ กู้เงิน คลายทุกข์ SMEs” ว่า ภายใต้การระบาดของโควิด-19 ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารของรัฐ มีภารกิจหลัก 2 มิติคือ สนับสนุนโครงการภาครัฐ ทั้งรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้รวดเร็ว เกิดประโยชน์ และช่วยเหลือที่ตรงจุดกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศในการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานหรือ ความเป็นอยู่ของประชาชน และอีกมิติได้ร่วมกับธนาคารอื่นๆ และพันธมิตร เพื่อช่วยเหลือกันกอบกู้เศรษฐกิจในช่วงยากลำบาก

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย

 

ส่วนการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนของเอสเอ็มอีนั้น แม้วิวัฒนาการของเอสเอ็มอีจะมาไกลมาก ด้วยไอเดียและโมเดลธุรกิจที่พัฒนาไม่เป็นสองรองใครและส่งต่อธุรกิจสู่รุ่น 3 สามารถนำพาธุรกิจได้ แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมคือ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ไปไม่ถึงดวงดาว แต่ด้วยความตั้งใจของเอสเอ็มอี และการสนับสนุนของสถาบันการเงินเอง ธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์นโยบายต่างๆ พร้อมสนับสนุนและช่วยเอสเอ็มอีอยู่แล้ว นอกจากนี้ควรจะยกระดับมาตรฐานการทำบัญชี นำข้อมูลอยู่ในระบบแพลตฟอร์มเพื่อการแข่งขันได้

‘กรุงไทย’แนะ SMEs ยกระดับมาตรฐานบัญชี

“จริงๆ ภาพรวมฐานปิรามิดเอสเอ็มอีกว่า 3.1 ล้านคนนั้นส่วนใหญ่อยู่ที่ฐาน แต่รายเล็กที่มียอดขายไม่ถึง 1.8 ล้านบาทก็สามารถเข้าถึงสินเชื่อแบงก์ได้ จึงขึ้นอยู่คุณภาพ และความสามารถ ส่วนอุปสรรคกรณีรายที่ถูกปฎิเสธนั้น เพราะแผนธุรกิจหรือรูปแบบของธุรกิจไม่ชัดเจน และบางรายมีปัญหาที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้วมาขอกู้ใหม่” นายธวัชชัยกล่าว

 สำหรับโครงการจับคู่กู้เงินที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนร้านอาหารไปกว่า 100 ร้านค้า วงเงินกว่า 160 ล้านบาท โดยยังมีคำขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังอนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูแล้ว 3,000 ราย วงเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี โดยธนาคารยังเน้นให้ความช่วยเหลือผ่านสินเชื่อบุคคลและภาคธุรกิจ เช่น สินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ส่วนลูกค้าที่ติดปัญหาสามารถติดต่อปรึกษาและช่วยหาทางออกร่วมกันต่อไป

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564