นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทนั้น เป็นการกู้ในภาวะที่จำเป็นและเกือบทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการเช่นเดียวกับไทย ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยปรับเพิ่มขึ้นทั้งยอดหนี้และสัดส่วนหนี้ต่อ GDP เพราะรายได้ของประเทศ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วน 12% ของ GDP หายไป ขณะเดียวกันนโยบายการเงินของประเทศมีการผ่อนคลายเพื่อให้นโยบายการคลังสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งหากในภาวะปกติมีการดำเนินนโยบายการคลังที่ต้องกู้เงินมากถึง 1 ล้านล้านบาท ฝั่งของนโยบายการเงินจะออกมาทักท้วงทันที เพราะจะส่งผลต่อเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ดังนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องทำ “นโยบายนอกตำรา” ซึ่งการกู้เงินจะอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ใช้อย่างไรให้เป็นประโยชน์ ดังนั้นเมื่อมีการใช้จ่ายมากขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ หรือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น
“ปี 65 รัฐบาลตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 7 แสนล้านบาท แปลว่ารัฐบาลจะต้องจัดเก็บรายได้ให้ได้ 7 แสนล้านบาท แต่ข้อจำกัดในช่วงปี 63 และ ปี 64 ทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงรวมทั้งรายได้ของรัฐวิสาหกิจก็ลดลง ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษี ด้วยการขยายฐานภาษี ดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น ซึ่งยังส่งผลดีต่อการดำเนินนโนบายให้ความช่วยเหลือ เพราะเมื่อทุกคนรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาอยู่ในระบบ จะทำให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลและให้ความช่วยเหลือได้ทันที” นายอาคม กล่าว
นายอาคม ยังย้ำเรื่องการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ก็เพื่อเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมในอนาคตหากมีความจำเป็น ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อขยับเพดานหนี้แล้วจะต้องมีการกู้เงินเกิดขึ้น ทั้งนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปี 65 จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 62% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ขณะที่ปัจจุบันหนี้ต่อรายได้ในงบประมาณประจำปีอยู่ที่ 31% ซึ่งยังต่ำกว่าที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ที่ 35% ส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะรวมของประเทศ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.4% จากกรอบที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ซึ่งถือว่าต่ำมากเนื่องจากรัฐบาลใช้เงินกู้จากสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก และหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออก ซึ่งกำหนดต้องไม่เกิน 5% ปัจจุบันอยู่ที่ 0.06% ซึ่งถือว่าน้อยมากเช่นกัน ดังนั้นหากสภาพคล่องในประเทศตึงตัว รัฐบาลสามารถไปกู้เงินจากต่างประเทศได้
อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีนโยบายในการลดการขาดดุลงบประมาณให้ได้ ดังนั้นหากในปี 2565 GDP ไทยอยู่ที่ 3%-4% และปีถัดไปอยู่ที่ 4%-5% ก็จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับลดลง พร้อมย้ำรัฐบาลมีแผนบริหารจัดการหนี้ที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนที่สูงเกินไป
นายอาคม ยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลจะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ติดลบ ตามที่บางสำนักวิจัยเศรษฐกิจคาดการณ์ไว้โดยรัฐบาลจะเดินหน้าเพิ่มการใช้จ่ายให้ประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อเนื่อง ผ่านมาตรการที่จะออกมาเพิ่มเติมในช่วง 1-2 เดือนนี้และยาวไปถึงปีใหม่เพื่อให้ประชาชนได้มีเงินในการใช้จ่าย ขณะที่ในปี 65 แม้สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายที่จะคาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวได้เพียง 3%-4% ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้ที่ 4%-5% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ยังเป็นบวก แม้จะบวกลดลงก็ตาม และเชื่อว่าหลังจากนี้ตัวเลข GDP จะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้น