นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะก่อหนี้เพิ่ม แต่ก็เป็นการก่อหนี้เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเพื่อแก้ปัญหาในภาวะไม่ปกติเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้สำนักงบประมาณต้องจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีในสัดส่วน 2.5%-4% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในปีงบประมาณ 65 ได้จัดสรรงบสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ที่ 3.2% หรือ 1 แสนล้านบาทไว้แล้ว และจัดสรรเพิ่มเติมอีก 2 แสนล้านบาทสำหรับชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น
“ปี 65 ได้งบประมาณมาจ่ายหนี้เงินต้น 3.2% หรือ 1 แสนล้านบาท ซึ่งอดีตเราชำระเฉพาะดอกเบี้ย แต่ปัจจุบันเราชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้นการชำระคืนเงินต้นปีละ 1 แสนล้านบาท ถือว่าเยอะ และ สบน. ก็มีการบริหารหนี้อย่างอย่างเคร่งครัดและเหมาะสมเพื่อลดภาระต้นทุนที่จะเกิดขึ้น” นายอาคม กล่าว
โดยรัฐมนตรีคลังระบุว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. ได้มีการติดตามสถานการณ์หนี้และตลาดตราสารหนี้อย่างใกล้ชิด และมีการบริหารจัดการหนี้เพื่อลดภาระในเรื่องต้นทุนการกู้เงิน เช่น เงินกู้ก้อนไหนที่มีดอกเบี้ยสูง ก็จะใช้วิธีออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นการบริหารหนี้ให้มีความเหมาะสม
พร้อมกล่าวย้ำว่า กระทรวงคลังมีวินัยการชำระหนี้ 4 ด้าน ได้แก่
1. ขยายเพดานหนี้สาธารณะจากเดิมต้องไม่เกิน 60% เป็น 70%
2. ความสามารถในการชำระหนี้ต่อจีดีพี และภาระหนี้ของรัฐต้องน้อยกว่า 35% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 31.76% ซึ่งยังมีพื้นที่ทางการคลัง
3. หนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องน้อยกว่า 10% โดยขณะนี้อยู่ที่ 1.67% ซึ่งถือว่าต่ำมากเนื่องจากระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาไม่ได้กู้เงินจากต่างประเทศ
และ 4. หนี้เงินตราต่างประเทศต่อภาคการส่งสินค้าและบริการ น้อยกว่า 5% ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.6%