หลังการประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB ภายใต้ SCBx เพื่อก้าวไปสู่กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินระดับภูมิภาคภายในปี 2568 ได้สร้างแรงกระเพื่อมทั้งวงการธนาคารและวงการบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินหรือ ฟินเทค และ สตาร์ทอัพ
นายปริญญา หอมเอนก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สัญญาณการปรับตัวครั้งใหญ่ของไทยพาณิชย์ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการทางกรเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ต้องปรับตัวเป็นบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Financial Tech Company มีหลายธนาคารได้ขยับตัวไปก่อนหน้า แต่เป็นการตั้งบริษัทลูกภายใต้ธนาคาร
กรณีของ SCBx จะแตกต่างออกไป โดยแยกด้านนวัตกรรม ตั้งเป็นบริษัทเทคโนโลยี เพื่อความคล่องตัว มีระบบวัดผลการปฏิบัติงานและโครงสร้างการทำงานที่แตกต่างออกไปจากธนาคารอื่น ซึ่งเป็นการทำธุรกิจ High Yield ออกไปข้างนอกและให้ธุรกิจ Low Yiled อยู่ในธนาคาร แต่ยอมรับว่า Tech Company หลายบริษัทภายใต้ SCBx นั้น ในช่วงแรก 2-3 ปีแรก อาจขาดทุน ซึ่ง SCBx จะเลือกสนับสนุนบริษัทที่รอดให้ไปต่อ
“SCBx จะเป็นเพียงก้าวแรก มีโอกาสที่จะล้มเหลว แต่ถ้าทำสำเร็จตามเป้าหมาย ในระยะข้างหน้า SCBx จะสร้างหุ้นเทคในตลาดหุ้นไทย เพราะตอนนี้ยังไม่มีดาวเด่นที่สำคัญ ซึ่งจะกลับข้างจากปัจจุบันที่กลุ่มธนาคารถูกดีสรัปจากเทคโนโลยี หากบริษัทย่อยๆ ภายใต้ SCBx มีนวัตกรรม หรือมีลิขสิทธิ์เป็นของตัวเอง SCBx จะดีสรัปอุตสาหกรรมอื่นๆด้วย”นายปริญญากล่าว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังคือการปล่อยกู้ เพราะสังเกตุว่า Tech Company ที่เติบโตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งอาจจะไปทำให้หนี้ครัวเรือนเติบโตพุ่งกระฉูดขึ้นไปอีก อย่างในจีน ที่มีบริษัทเล็กๆ หรือแพลตฟอร์มที่ให้บริการทางการเงินเคยเติบโตอย่างมาก แต่กลับสร้างปัญหาต่อระบบ จนในที่สุดทางการจีนต้องกำกับอย่างเข้มงวดทั้งหมด
นอกจากนี้การเกิดขึ้นของ Tech Company ทำให้ตลาดแย่งซื้อตัว วิศวกรคอมพิวเตอร์ ,โปรแกรมเมอร์ ขนาดคนที่อายุงาน 2-3 ปีค่าตัวหลักแสนบาทแถมมีสิทธิประโยชน์อื่นนอกจากเงินเดือน เพราะเมืองไทยขาดการสร้างบุคลากรด้านเทคโนโลยี
นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจพรรคกล้ากล่าวว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ปรับตัวและลงทุนในเทคโนโลยีค่อนข้างสูง โดยมีการแยกบริษัทเทคออกมาเห็นได้ จากธนาคารไทยพาณิชย์ “SCBx” ธนาคารกสิกรไทย “KBTG” ธนาคารกรุงไทย“อินฟินิธัส” ธนาคารกรุงศรีอยุธยา “กรุงศรี ฟินโนเวต” ธนาคารกรุงเทพ “บัวหลวงเวนเจอร์ส”
ความท้าทายอยู่ที่การเปลี่ยนวัฒนธรรมของธนาคารให้เป็น Tech company เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างธุรกิจคิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยธนาคาร ไม่ได้หายไปไหนยังอยู่แต่จะต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เร็วขึ้นในการรับฝากเงินและให้สินเชื่อ และบริการ ซึ่งการแตกบริษัทย่อย ต้องเกิดการแย่งตัวบุคลากร เพราะคนเก่งมีไม่เยอะจึงต้องหาบ่ออื่นที่มีคนเก่งหรือสร้างบ่อใหม่
“ผมมีความเชื่อว่า เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนประเทศได้และแก้ปัญหาได้ในหลายเรื่อง ถ้าใช้เทคโนโลยีให้ถูกทาง โดยเฉพาะภาครัฐต้องร่วมทำงานกับภาคเอกชนทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะทิศทางการแข่งขันภายใน 3 ปีจะเห็นภาพชัดว่า ใครรอดหรือไม่รอด บทบาทสำคัญที่สุดตอนนี้คือ ภาครัฐต้องสนับสนุนภาคเอกชน ซึ่งคนทำธุรกิจใหม่ก็จะมีโอกาสไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของแพลตฟอร์ม”นายสมคิดกล่าว
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (ttb Aanalytics)กล่าวว่า ในเชิงเทคโนโลยี ทั้งธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ไม่ด้อยกว่ากัน เพราะสามารถหาซื้อกันได้ แต่จะต่างกันในขั้นตอนการนำเทคโนโลยีไปใช้ที่ไม่เท่าทันกัน ธนาคารเป็นองค์กรขนาดใหญ่อาจจะมีความช้า
ที่ผ่านมาระบบธนาคารพาณิชย์มีงบค่าใช้จ่ายด้านลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและบริหารการจัดการอยู่ในระดับสูง ทำให้มีข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุน ฐานลูกค้าเป็นคลังข้อมูลเปิดโอกาสหาพันธมิตรและสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจอื่นทำให้ธุรกิจการเงินในระยะยาว มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่บริษัทจดทะเบียน
“ในระยะยาวแบงก์มีความได้เปรียบ ถ้าสามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่นและสร้างนวตกรรมใหม่ได้สำเร็จ จะสามารถดีสรัปฟินเทค สตาร์ทอัพได้ ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงของการเริ่มต้น จะเห็นรูปธรรมบ้างด้านการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล หรือระบบการชำระเงิน เพราะระบบการเงินไทยมีความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐานจากการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย”นายนริศกล่าว
นายวรพล พรวาณิชย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพียร์ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า Tech Company ของกลุ่มธนาคารมีสัญญาณการรุกตลาดมาในระยะหนึ่งแล้ว จึงไม่แปลกใจที่ SCBx จะรีสตาร์ทมุ่งสู่ Tech Company อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นการเปิดตลาดให้คนรู้จักฟินเทค สตาร์ทอัพ และใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีมากขึ้นซึ่งคนจะเข้ามาเป็นความบริการเป็นความต้องการที่แท้จริงในตลาด
ในมุมของสตาร์ทอัพ ยังมีทั้งข้อได้เปรียบและข้อด้อย เพราะสตาร์ทอัพมีทุนน้อยต้องเลือกหรือเน้นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มั่นใจว่า เกิดได้แต่อาจจะมีความจำกัดในมุมของการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆในขณะที่ tech company กลุ่มธนาคารมีความได้เปรียบในจุดนี้ที่สำคัญขึ้นอยู่กับการปรับตัวของสตาร์ทอัพและฟินเทค
สำหรับเพียร์พาวเวอร์ปีนี้ยังสามารถออกหุ้นกู้ให้แก่ลูกค้าในหลายบริษัททั้งกลุ่มสายการบินกลุ่มบริการโลจิสติกส์ e-commerce รับเหมาก่อสร้างที่ทำสัญญากับภาครัฐและรายใหญ่ๆ คาดว่าจะเติบโตได้มากกว่า 500 ล้านบาทเป้าหมายที่ตั้งไว้
นายธีรชาติ ก่อตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัทสยามสแควร์ เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น stock radars กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจการเงินที่จะเปลี่ยนสู่บทบาทของฟินเทคสตาร์ทอัพนั้นถือว่า เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงตลาดโดยเฉพาะถ้าทำได้สำเร็จตลาดหลักทรัพย์จะมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่และมีโอกาสอัพไซส์ได้มากจากปัจจุบันที่มีบริษัทรายใหญ่เป็นธุรกิจสัมปทานที่ผูกขาด แต่ในฐานะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในฐานะคนตัวเล็ก
“อุตสาหกรรมโดยรวมกำลังเจอปลาใหญ่ที่เร็วมากซึ่งผู้ประกอบการรายเล็กจะต้องหาทางเอาตัวรอดอย่างไรก็ตามส่วนตัวยังมองว่าถึงเวลาที่ภาครัฐควรจะออกมาสนับสนุนเลือกคนทำงานกับ startup โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อที่จะให้คนจบใหม่สามารถจะก่อตั้งบริษัทหรือทำงานกับองค์กรใหญ่ในระยะยาวได้”นายธีรชาติกล่าว
ด้านนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา Group CEO ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคัพ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ Bitkub กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การปรับตัวครั้งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ถือเป็นเรื่องที่ดีของการเปลี่ยนแปลงโลกการเงินของประเทศในอนาคตไปสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของธนาคารขนาดใหญ่ นอกจากช่วยสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้งานนวัตกรรมการเงินดิจิทัลด้วย
“ผมมองว่า เป็นเรื่องที่ไทยพาณิชย์มาถูกทางแล้ว ส่วนจะส่งผลกระทบกับสตาร์ทอัพทางด้านฟินเทคหรือไม่นั้นมองว่า น่าจะเป็นโอกาสสำหรับกลุ่มสตาร์ทอัพ ในการแสวงหาความร่วมมือกับแบงก์ ซึ่งแบงก์มีความแข็งแกร่งเรื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและมีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก ขณะที่ฟินเทคสตาร์ทอัพมีความแข็งแกร่งเรื่องของนวัตกรรมใหม่ และสามารถปรับตัวได้เร็ว หากมีการร่วมมือกัน น่าจะช่วยสร้างนวัตกรรมการเงินใหม่ในประเทศออกมาเป็นจำนวนมาก และเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการนวัตกรรมการเงินรวดเร็วขึ้น”นายจิรายุสกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,719 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564