ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ค้าปลีก(RSI) เดือนกันยายน 2564 โดยระบุว่า ในเดือนกันยายน 2564 การฟื้นตัวของธุรกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนในทุกธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่ภาคการผลิตตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นสำคัญ อาทิ การกลับมาเปิดห้างสรรพสินค้า และการนั่งรับประทานในร้ายอาหารได้บางส่วน ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มลดลง ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นด้านการบริโภค
สำหรับภาคการผลิต ปรับดีขึ้นเล็กน้อย หลังจากปัญหาการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงานเริ่มคลี่คลายโดยธุรกิจนำมาตรการ Bubble & Sealมาใช้ในโรงงานมากขึ้น ขณะที่ปัญหาด้านการขนส่งเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจมากขึ้นในเดือนนี้ ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานปรับดีขึ้นทั้งด้านจำนวนแรงงานและรายได้เฉลี่ย สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ และการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงานที่ลดลงจากเดือนก่อนเกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การใช้นโยบายสลับกันมาทำงานยังมีสัดส่วนสูงใกล้เคียงเดิม ขณะที่ในภาคการผลิตมีการใช้มาตรา 75 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่งจากบางโรงงานหยุดผลิตชั่วคราวหรือใช้แรงงานน้อยลงเพราะปัญหาการแพร่ระบาดในโรงงานหรือปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามธุรกิจมีมุมมองต่อการฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนโควิดล่าช้ากว่าการสำรวจรอบก่อน
ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ขณะที่บางธุรกิจสะสมวัตถุดิบคงคลังน้อยลง ส่วนหนึ่งจากราคาเหล็กที่สูง และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เนื่องจากการปิดโรงงานของคู่ค้าในช่วงก่อนหน้า
“ธุรกิจภาคการผลิตเกือบครึ่งหนึ่งมีการทำมาตรการ Bubble & Seal แต่มีอุปสรรคสำคัญจากต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข และด้านการจัดหาพื้นที่กักตัว ขณะที่มุมมองต่อการกลับมาใช้ชีวิตปกติของประชาชน ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ประเมินว่าวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด และจะเกิดได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2565”
(2) ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนกันยายน 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมแบบเข้มงวดและอนุญาตให้หลายกิจการกลับมาดำเนินธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงกังวลกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปที่อาจส่งผลต่อยอดขาย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า กำลังซื้อปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนไป อาทิ ไม่นิยมกักตุนหรือรอโปรโมชั่นพิเศษจาก Platform ต่าง ๆ ขณะที่ยอดขายหลังการผ่อนปรนมาตรการครั้งนี้ ได้รับผลดีจากการอั้นของผู้บริโภค (Pent-up Demand) ที่ค่อนข้างจำกัด