ในงานสัมมนา Thailand Survival : Post Covid-19 ครั้งที่ 6 “Thai Herb สร้างภูมิ เสริมเศรษฐกิจ สยบพิษโควิด” หัวข้อ “เสริมศักยภาพสมุทรไพรไทยสู่ตลาดโลก” จัดโดย เนชั่นทีวี โดยนายอัคเรศ สุขตลอดชีพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในเครือสุภาภรณ์ กล่าวว่า จุดแข็งของสมุนไพรไทยจะมีความโดดเด่นในตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องของสรรพคุณ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสมุนไพรไทยได้รับการตอบรับดีทั้งในและต่างประเทศ พร้อมมองโอกาสของตลาดสมุนไพรไทยในประเทศยังมีสูง ขณะเดียวกันความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับสมุนไพรไทยในตลาดต่างประเทศก็ยังมีสูงเช่นกัน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ที่พบว่าสินค้าสมุนไพรไทยขายดีมาก ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือการสร้างแบรนด์ให้มีความทันสมัย เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่มีความรู้สึกอย่างใช้สมุนไพรไทย หรือรู้สึกดีเมื่อได้ใช้ นอกจากนี้ราคาที่จับต้องได้ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้อย่างดี
นายอิศรา อัคคะประชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ห้างขายยาตราใบห่อ จำกัด กล่าวว่าสมุนไพรไทยทุกตัวเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว เช่น รัซเชีย มีความนิยมสมุนไพรฟ้าทะลายโจรของไทย และจีนก็นิยมสมุนไพรที่ให้สรรพคุณในแง่ของยาระบาย ขณะที่ปัจจุบันกระแสการทานวีแกน และสินค้าออแกนิก ถือเป็นโอกาสของสมุนไพรไทย ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดรับกับกระแสที่กำลังมา พร้อมมองว่าขั้นตอนในการขอใบอนุญาตต่างๆ จากภาครัฐที่มากเกิน ถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการไทย พร้อมแนะบรรจุหลักสูตรความรู้ด้านสมุนไพรไทยให้อยู่ในภาคการศึกษา เพื่อเสริมให้คนรุ่นใหม่มีความรู้และเข้าใจในสมุนไพรไทยมากขึ้น
ด้าน พญ.เพชรไพลิน พงษ์บริบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาวละออเภสัช จำกัด กล่าวว่า แม้ปีหน้าคนจะมองว่าสมุนไพรไทยอาจไม่เป็นที่ต้องการมากเท่ากับปีนี้ เนื่องจากมีการผลิตวัคซีนและยารักษาโควิดได้มากขึ้น แต่มองว่าหากต้องการให้ไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมและพัฒนาสมุนไพรไทยอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันแม้ไทยจะได้เปรียบเรื่องของสภาพภูมิประเทศที่ทำให้สมุนไพรที่ปลูกในไทยมีสรรพคุณมากกว่าสมุนไพรชนิดเดียวกันที่ปลูกในต่างประเทศ แต่ยังจำเป็นต้องให้องค์ความรู้เกษตรกรและมีการควบคุมการผลิตเพื่อรักษาคุณภาพตั้งแต่การเพาะปลูก ขณะเดียวกันจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการทำงานวิจัยสมุนไพรไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทาน ทั้งนี้ในประเทศจีน พบว่ามีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรจำนวนมาก ขณะที่ไทยมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมุนไพรแต่ละชนิดน้อยมาก