ชื่อของบริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือเจพี อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย แต่ในแวดวงสุขภาพ ยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เจพี ถือเป็นผู้ประกอบการอันดับต้นๆ ของเมืองไทยที่นักธุรกิจรู้จักเป็นอย่างดี
และต้องการเข้าร่วมธุรกิจ ด้วยประสบการณ์กว่า 70 ปี วันนี้ “เจพี” พร้อมเดินหน้าผงาดในโลกธุรกิจทั้งการผลิตแบรนด์ของตัวเอง และการเป็นผู้ผลิตมืออาชีพที่ครบวงจร
นายสิทธิชัย แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายพิษณุ แดงประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ JP เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของบริษัทพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านการวิจัย ผลิตและจำหน่ายยา สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารครบวงจร
โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายตลาดผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของบริษัท (Own Brand) ทั้งในประเทศไทยและปูพรมยึดหัวหาดในประเทศอาเซียนภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้
โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพทั้งการป้องกัน รักษาและเสริมภูมิต้านทาน รวมทั้งยังทำให้แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ให้การยอมรับในผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมากยิ่งขึ้น
จึงมองเห็นเป็นโอกาสในการขยายตลาดทั้งในกลุ่มยาแผนปัจจุบัน แผนโบราณ เสริมอาหาร โดยปัจจุบันเจพีมีสมุนไพร ที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 1,000 ทะเบียนและมีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและวิจัยอีกจำนวนมาก
“บริษัทรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์ต่างๆกว่า 500 รายการ ซึ่งปัจจุบันแอคทีฟกว่า 200 รายการ โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากการรับจ้างผลิตคิดเป็น 54.71% โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำ เช่นบริษัท มหาชน, ทีวีโฮมช้อปปิ้ง รวมถึงเชนร้านขายยาชั้นนำ
ซึ่งล้วนมีศักยภาพและความมั่นคง ขณะที่การระบาดของโควิดทำให้มีบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรม สนใจแตกไลน์ธุรกิจ เข้ามาลงทุนในสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น จึงกลายเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ ทำให้สัดส่วนรายได้ในกลุ่มนี้ยังมีการเติบโตต่อเนื่อง”
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในอนาคต บริษัทจะมุ่งสร้างการรับรู้และทำตลาดภายใต้แบรนด์สินค้าของตนเองมากขึ้น โดยจะโฟกัสไปที่แบรนด์ “สุภาพโอสถ” ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ยาเม็ดสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ยาแก้ไข้ ยาบำรุงโลหิต ยาขับลม ยาแคปซูล น้ำมันสกัดเย็น 4 ชนิด และสาหร่ายสไปรูริน่า เป็นต้น รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด เช่น Plant Based นวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนจากพืช เป็นต้น
“ความต้องการฟ้าทะลายโจรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทเท่าใดนัก เนื่องจากเตรียมความพร้อมตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์ที่รัฐบาลประกาศให้คนเดินทางกลับบ้าน ไปต่างจังหวัดได้ ซึ่งบริษัทได้ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจัดทำแผน risk management รองรับ ในซีเนริโอต่างๆไว้ ทั้งการผลิตที่เพิ่มขึ้นในส่วนสินค้าของบริษัทเองและการรับจ้างผลิต จึงมีสินค้าต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้เกิดปัญหาวัตถุดิบขาดตลาด ทั้งพืชฟ้าทะลายโจรและแคบซูลบรรจุ ราคาจึงขยับขึ้น 4-5 เท่า แต่ด้วยโรงงานเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ จึงมีระบบซัพพลายเชน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการ ขณะที่บริษัทมีแนวคิดในการเน้นจำหน่ายให้กับผู้ป่วย ผู้จำเป็นโรงพยาบาลสนาม รวมถึงแพทย์ โรงพยาบาลเป็นหลัก จึงไม่มีแผนที่จะปรับราคาขึ้นแต่อย่างไร
“การเดินหน้าต่อให้ครบ 100 ปี บริษัทต้องรักษาฐานความเชื่อมั่นของแพทย์ เภสัชกร และผู้ป่วยเอาไว้ ที่ผ่านมาแม้ยอดขายฟ้าทะลายโจรจะพุ่งขึ้น ทำให้ตัวเลขดี แต่กำไรไม่ได้หรูหรา แม้วันนี้ต้นทุนจะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่การปรับราคาคือทางเลือกสุดท้าย” นายพิษณุ กล่าวว่า
บริษัทต้องมุ่งสร้างการรับรู้และทำตลาด เพื่อให้แบรนด์สินค้าเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเป็น Top of mind ของคนไทย ซึ่งหากการสร้างแบรนด์ในประเทศไทยประสบความสำเร็จจะส่งต่อถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในประเทศ CLMV ผ่านตัวแทนจำหน่ายซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้เชื่อมั่นว่าใน 3 ปีจะสามารถปูพรมยึดหัวหาดตลาดอาเซียนได้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดีหลังยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 115 ล้านหุ้น และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
บริษัทจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายตลาด การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ การปรับปรุงและขยายโรงงานทั้ง 2 แห่ง ส่วนที่เหลือนำไปชำระเงินกู้สถาบันการเงินและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานต่อไป
นายสิทธิชัย กล่าวต่อไปว่า ความท้าทายในวันนี้คือ การเปลี่ยนแปลงธุรกิจอย่างรวดเร็ว (Business Change) การพัฒนานวัตกรรม ที่จะมาช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของไทย การนำสินค้าจากพื้นดิน พื้นน้ำวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร มาต่อยอดให้อยู่บนร้านขายยา โรงพยาบาล หรือส่งออกได้อย่างไร
ขณะที่นายพิษณุ เสริมว่า ชาเลนจ์ คือ การทำให้เกิดดีมานด์ในตลาด ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ทำให้เกิด Top of mind เมื่อสร้างดีมานด์ได้จะต่อยอดไปสู่ต้นน้ำ คือ ชาวบ้าน เกษตรกร ผู้เริ่มต้นผลิตวัตถุดิบ
การก้าวเข้าสู่บริษัทมหาชน เป็นอีกก้าวที่พิสูจน์ฝีมือและแนวคิดของ 2 นักบริหารรุ่นใหม่ที่พร้อมเดินหน้าและผลักดันให้สมุนไพรไทยเติบโตได้ทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทั้งวันนี้และในอนาคต
หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564