นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB เปิดเผยว่า ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ ในไตรมาส 3 ของปี 2564 จำนวน 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรจากของธุรกิจที่ดีขึ้นและการตั้งเงินสำรองที่ลดลง
ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 21,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของการเติบโตที่แข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้งวด 9 เดือนแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 27,720 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2564 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 23,533 ล้านบาท ลดลง 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงแรงกดดันต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิภายใต้สภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง ขณะที่มีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย 13,377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง การฟื้นตัวของธุรกรรมการค้า และกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 15,813 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารอยู่ที่ 42.8% ในไตรมาส 3 ของปี 2564 โดยธนาคารได้ตั้งเงินสำรอง 10,035 ล้านบาท สำหรับไตรมาส 3 ของปี 2564 และ30,071 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2564
ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 3.89% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 3.79% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 137.6% และเงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.4%
“ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีผลกระทบในวงกว้าง สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของฐานะการเงินของธนาคารและความสามารถในการปรับตัวภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”นายอาทิตย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงเน้นบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือลูกค้าและสังคมผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงิน โดยในไตรมาส 3 ได้เริ่มกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบเบ็ดเสร็จภายใต้กรอบของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อช่วยให้ลูกค้าของธนาคารมีโอกาสฟื้นตัวจากวิกฤตครั้งนี้แบบยั่งยืน
นอกจากนั้น ธนาคารยังได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายย่อยผ่านแพลตฟอม์ส่งอาหารโรบินฮู้ด โดยในไตรมาสนี้ ธนาคารมีผู้ใช้งานใหม่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขยายฐานผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มส่งอาหารโรบินฮู้ด และธนาคารจะยังคงมุ่งมั่นยกระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าบนช่องทางดิจิทัลให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บนแพลตฟอร์มต่อไป