นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การลงทุนโลก-ไทย ยุคโควิด กับการดูแลผู้ลงทุน” ในงานสัมมนา“หุ้นปลอดภัย ฝ่าภัยโควิด” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ส่งผลต่อพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนให้เปลี่ยนไป โดยจะใช้อินเทอร์เน็ตในการส่งคำสั่งซื้อขายมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งก.ล.ต.ได้ปรับวิธีการทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการปรับเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้บริการผ่านดิจิทัลแก่ผู้ลงทุนได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม พบว่านักลงทุนรายย่อยมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เน้นซื้อขายหุ้นพื้นฐานขนาดใหญ่ หรือหุ้นที่ให้ปันผลสูง ซึ่งในปี 2564 มีนักลงทุนรายย่อยประมาณ 500,000 ราย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 25-41 ปี หรือ Gen Y ที่มีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 61% ของนักลงทุนรายย่อยทั้งหมดสะท้อนว่านักลงทุนรุ่นใหม่จะมีบทบาทในกระแสเงินลงทุนในอนาคตมากขึ้น โดยก.ล.ต.นอกจากจะให้คำเตือนแล้ว ยังให้ข้อมูลความรู้ต่างๆ รวมถึงให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนแบบยั่งยืนยิ่งขึ้น เพราะบจ.ที่ให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลจะมีผลต่อผลประกอบการและผลตอบแทนที่ปรับเพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี รวมถึงทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการ และกระแสเงินทุนของกองทุนประเภทSustainable Fund ก็มีการเติบโตขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน นักลงทุนสถาบันและรายย่อย ยังนิยมลงทุนในกิจการที่อิงกับกระแสเทคโนโลยีมากขึ้นต่อยอดจากการลงทุนแบบเดิม เช่น บล็อกเชน 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นต้น ด้วยความเป็นกระแสธีมโลกด้วย ทำให้ได้รับความน่าสนใจจากกระแสเงินทุนตาม
“นักลงทุนรายย่อยควรมองในจุดลงทุนที่เน้นความยั่งยืน ซึ่งในตอนนี้เป็นที่น่ายินดีมากที่บจ.ไทยตอบรับเรื่องการดูแล ESG อย่างเต็มที่ เข้าไปสู่กระบวนการดำเนินการของบจ. ที่สำคัญที่สุดคือการพร้อมที่จะเปิดข้อมูลที่ก.ล.ต.กำหนดในต้นปี 2565 เรื่องของรายงานความยั่งยืน อยากเชิญชวนให้ใช้มุมมองพิจารณาความยั่งยืนประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย และบจ.ไทยหลายแห่งได้รับการจัดอันดับที่ดีเยี่ยมในระดับระหว่างประเทศนานาชาติ ในส่วนของดัชนีหุ้นที่สนับสนุนความยั่งยืน”
ขณะที่ ปัจจุบันตลาดทุนไทยยังได้รับความน่าสนใจจากปัจจุบันมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 33.04 ล้านล้านบาทมีการระดมทุน 9 เดือนแรกปี 2564 แบ่งเป็นตราสารทุน 118,430 ล้านบาท และตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวอยู่ที่ 821,367 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการระดมทุนผ่านการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (ICO) เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน โดยปรับเกณฑ์ให้เข้ากับการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งปัจจุบันทำการเสนอขายแล้ว 1 ราย เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าระดมทุน 2,400 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าตลาดทุนยังเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับดิจิทัลได้ และยังมีผู้ประกอบการรายอื่นให้ความสนใจเข้ามาปรึกษาต่อเนื่อง 2-3 ราย
ขณะเดียวกัน ยังร่วมกับตลท. ช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) สามารถมีช่องทางในการระดมทุนในตลาดทุนได้ เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กที่เข้าเงื่อนไข มีตลาดรองรองรับได้ คาดว่าจะเปิดกระดานซื้อขายที่ 3 ได้ในช่วงต้นปี 2565 รวมถึงยังเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยจัดตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) ที่คล้ายกับมาตรการโกดังเก็บหนี้ (Asset Warehousing) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งปัจจุบันออกมาแล้ว 1 โครงการ
“ปัจจุบันสินทรัพย์ดิจิทัลมีความท้าทายกับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้ร่วมตลาด ซึ่งมีจำนวนบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล 1.49 ล้านบัญชี เป็นบัญชีที่มีความเคลื่อนไหว 311,528 บัญชี และมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันถึง 6,600 ล้านบาท ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความผันผวนและเสี่ยงสูง ทำให้ก.ล.ต.ต้องมีการออกมาเน้นให้ความรู้และความเข้าใจแก่นักลงทุน เพื่อเป็นการพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนและลดความเสี่ยง”