3 Big Cap เดินหน้าลุยลงทุน “กัลฟ์” ชี้อนาคตยังเติบโต หลังซื้อหุ้นอินทัช สร้างรายได้ให้กลุ่มปีละ 6 พันล้านบาท ขณะที่ WHA ลุยดิจิทัล เฮลท์เทค และ Tech Company ต่อยอดธุรกิจ พร้อมเปิดนิคมฯในเวียดนามอีก 2 แห่ง ส่วน AIS เร่งสร้าง 2 ธุรกิจใหม่ เอ็นเตอร์ไพร์ส และดิจิทัล แพลตฟอร์มปั้นผลตอบแทน 1.3 แสนล้านบาท
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จัดงานสัมมนา Virtual Seminar “หุ้นปลอดภัย ฝ่าภัยโควิด” The Best Stocks: During Covid-19 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มีนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปาฐากถาพิเศษในหัวข้อ “การลงทุนโลก-ไทย ยุคโควิด กับการดูแลผู้ลงทุน”
ในงานได้เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “หุ้น Big Cap เย้ายวนใจ หรือไร้เสน่ห์” มีวิทยากรจาก 3 บริษัทชั้นนำของเมืองไทย ที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุด ร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการดำเนินงาน ที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างน่าสนใจ
กัลฟ์ซื้อหุ้นอินทัชสร้างรายได้โต
นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า กัลฟ์ยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายของภาครัฐ
ซึ่งเร็วๆนี้เตรียมลงนามสัญญาการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เป็นท่าเรือน้ำลึกที่เรือขนาดใหญ่สามารถเข้ามาได้ ทำให้สามารถส่งสินค้าตรงไปอเมริการและยุโรปได้โดยไม่ต้องไปเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ และในช่วง 2-3 ปี คาดโครงการลงทุนทำท่าเรือ LNG ที่มาบตาพุด ซึ่งจะเป็น LNG เทอมินัล แห่งที่ 3 ของไทยจะแล้วเสร็จ
ขณะที่การเข้าถือหุ้นอินทัช มองว่าเป็นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในอนาคตและยังสามารถต่อยอดธุรกิจของกัลฟ์ได้ ทั้งนี้จากการที่บริษัทลูกของอินทัช โดยเฉพาะ AIS ซึ่งมีกำไรประมาณ 3 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งจะทำให้อินทัชมีกำไรประมาณ 12,000 ล้านบาท/ปี
ทำให้กัลฟ์ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 40%ของอินทัช มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,000 -6,000 ล้านบาท/ปี การเข้าไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ เป็นไปตามนโยบายหลักของกัลฟ์ในการสร้างความเติบโตและเพิ่มรายได้เป็นหลักและไม่ให้ลดลงในระยะ 20-30 ปี และเพื่อเป็นสร้างความมั่นใจว่ากัลฟ์จะมีการให้ Dividend แก่ผู้ถือหุ้นต่อเนื่องทุกปี
นอกจากนี้ “อินทัช” ถือเป็นธุรกิจที่ไม่มีหนี้สินมาก และบริษัทในกลุ่มยังมีสภาพคล่องและมีผลประกอบการค่อนข้างดี และจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทในกลุ่มอินทัชมากขึ้น เช่น ธุรกิจด้านดาต้าเซ็นเตอร์ รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือและศึกษาถึงโอกาสและความเป็นไปได้ ส่วน“ไทยคม” มองว่าเป็นอีกหนึ่งบริษัทของ “อินทัช” ขณะนี้ผลประกอบการบางปีขาดทุน และเป็นธุรกิจอินเตอร์เน็ตที่ส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ จึงไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกัลฟ์มากนัก
นายสารัชถ์ กล่าวอีกว่า ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า ที่อนาคตจะมีแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ทั่วไป ทั้งบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจะสามารถเลือกเองว่าจะซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายใด หรือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งใด ทั้งพลังงานลม แสงอาทิตย์ หรือ ก๊าซธรรมชาติที่มีเสถียรภาพมากกว่า แม้ยังเป็นเรื่องระยะยาว แต่ขณะนี้ก็พบว่าในต่างประเทศเริ่มมีการทดลองทำแล้ว
“จากวันนี้ไปจนถึง 4-5 ปี ยังไม่ต้องหาซื้อบริษัทอื่นเพิ่ม ยกเว้น ณ ขณะนั้นมีบริษัทหรือธุรกิจอะไรที่น่าสนใจจริงๆ ส่วนการร่วมทุน เป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ทันที ปัจจุบันมีบริษัทอื่นเข้ามาเสนอให้ร่วมทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกัลฟ์ไม่ได้กำหนดชัดเจนว่าจะต้องเป็นธุรกิจประเภทใด ดังนั้น การจะร่วมทุนกับบริษัทใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมทั้งด้านราคาและสถานการณ์ขณะนั้น ทั้งหมดนี้เป็นการเดินหน้าตามแผนธุรกิจเพื่อรักษาการเติบโตต่อเนื่องและมีการดูเรื่องการกระจายความเสี่ยงเป็นหลัก”นายสารัชถ์กล่าว
WHA ลุยเฮลท์เทค-เทคคอมพานี
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ WHA Groupเปิดเผยว่า ปัจจุบัน WHA มี 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1. โลจิสติกส์ ซึ่งมีการเติบโตโดดเด่นตั้งแต่ก่อนโควิด จากซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ซึ่งWHA มีพื้นที่ภายใต้การบริหารงานเกือบ 2.5 ล้านตารางเมตร มากกว่า 45 โลเคชั่น โดยโซนหลักยังคงอยู่ในโซนบางนา-ตราด
2.นิคมอุตสาหกรรม มีพื้นที่รวมกันทั้งหมดเกือบ 70,000 ไร่ 12 โลเคชั่น แบ่งเป็นในไทย 11 โลเคชั่นและเวียดนาม 1 โลเคชั่น ซึ่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการเดินทางไม่สะดวกทำให้ยอดขายได้รับกระทบแต่ในระยะยาวถือว่าเป็นภาพที่ดีเนื่องจากเกิดการเคลื่อนย้ายกระแสเงินทุน
“ไทยยังเป็นหนึ่งในโลเคชั่นที่นักลงทุนสนใจ หลังจากมีการเปิดประเทศจะเห็นยอดขายที่ดีกลับเข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีแผนขยายนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามเพิ่มอีก 3 แห่ง ซึ่งมีการพัฒนาเฟสแรกไปแล้ว 3,100 ไร่และอีก 2 นิคมอุตสาหกรรมจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปีหน้า”
3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน WHA มีการบริหารจัดการธุรกิจเกี่ยวข้องกับน้ำประมาณ 130 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีแผนการขยายธุรกิจน้ำไปที่เวียดนาม ส่วนธุรกิจพลังงานจนถึงสิ้นปีนี้คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 670 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่ผลิตได้ประมาณ 547 เมกะวัตต์
ธุรกิจที่ 4 คือ ดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอนาคตใหม่ที่ WHAให้ความสำคัญ ทั้งการพัฒนาเรื่องของ ดิจิตอล เฮลท์เทค รวมทั้งมองการลงทุนใน Tech Company หรือ startup ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจหลักของ WHA ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงทุนใน startup เพื่อขยายฐาน
ทางด้านของ operation และ businessmodel ใหม่ ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่นของ WHA ในภาพของการโฟกัสอินโนเวชั่น เทคโนโลยี มากขึ้นเพื่อสร้างรายได้เพิ่มในอนาคต
AISต่อยอดธุรกิจโกย1.3แสนล.
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ดำเนินธุรกิจภายใต้สัญญาสัมปทาน มีการจ่ายค่าสัมปทานไปแล้ว 8 แสนล้านบาท และมีปันผล 2-3% โดยเอไอเอสได้ประกาศทิศทางธุรกิจมุ่งไปสู่ดิจิทัล เซอร์วิส โพรวายเดอร์ รองรับการทำงาน การใช้ชีวิตของผู้คน
เอไอเอสวางยุทธศาสตร์ธุรกิจไว้ 3 แกน โดยแกนแรก คือ การให้บริการโมบาย ที่เป็นคอร์บิสซิเนส ยังมีความแข็งแกร่ง และทุ่มเทเรื่อง 5G มีการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ที่จะพลิกโฉมการดำเนินชีวิตของคน ทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆ เกิดแอพใหม่ เกิดแมสทรานซิส เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ผ่าตัดทางไกล ต้องใช้ความแม่นยำ และความหน่วงต่ำ โดยเอไอเอสยังมีรายได้จากคอร์บิสซิเนส แสนกว่าล้านบาท มีกำไรปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยยังการันตีเรื่องปันผลจากคอร์บิสซิเนส 3-5% ขึ้นอยู่กับราคา
ส่วนธุรกิจอีก 2 แกน ที่เป็นความหวัง และเกิดขึ้นแล้ว คือ เอไอเอสไฟเบอร์และ เอ็นเตอร์ไพร์ส มียอดการเติบโตปีละ 20% แต่ฐานลูกค้าเอไอเอสไฟเบอร์ยังไม่ใหญ่มากนัก เนื่องจากเพิ่งเข้ามาในตลาด แต่ตลาดเอ็นเตอร์ไพร์ส มีขนาดใหญ่มูลค่า 3 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงมีโอกาสสร้างการเติบโตอีกจำนวนมาก ซึ่งหากสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งตลาด 10% เท่ากับมีรายได้ใหม่เกิดขึ้น 3 หมื่นล้านบาท
รวมทั้งแกนที่คาดหวังระยะยาว คือ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม จากฐานลูกค้า 42 ล้านราย มีข้อมูลฐานลูกค้ามากมาย ในการช่วยพาร์ทเนอร์ของเรา วันนี้ถ้าดิจิทัลเซอร์วิสสำเร็จจะช่วยสร้างรายได้มหาศาล โดยที่ผ่านมาร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เช่นเอไอเอสเพลย์, ดิสนีย์, แบงก์กรุงไทยช่วยร้านค้ารายย่อย ร่วมทุนกับเอสซีบี เปิดเอไอเอสซีบี ซึ่งเป็นการร่วมมือเพื่อนำดาต้ามาใช้ช่วยพาร์ทเนอร์ นำเสนอสินค้าและบริการของพาร์ทเนอร์ของเราไปสู่มือลูกค้า ช่วยให้ลูกค้าให้เติบโต ที่สำคัญสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ถือป็น Big jump ถ้าทำสำเร็จ สร้างให้เกิดรายได้มหาศาลเกิดขึ้นมา โดยประมาณการณ์ว่าอุตสาหกรรมต่างๆ มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หากเอไอเอสร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ และทำสำเร็จ มีส่วนแบ่งรายได้จากพาร์ทเนอร์ 10% เท่ากับมีรายได้เพิ่มแสนล้านบาท
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,725 วันที่ 24 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564