31 มีนาคม 2568 ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีการรับประกันภัย "อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่” ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบ ต่อฐานะการเงินของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแกน
หนังสือชี้แจ้งยังระบุว่าในสัญญาประกันภัยมีเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัย(ผู้รับเหมา กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทยจำกัด) ต้องรับผิดชอบเองร้อยละ 20 ของ ความเสียหายสำหรับแต่ละเหตุการณ์
หนังสือชี้แจงดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้ บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทโฮลดิ้งส์ ที่ถือหุ้นในบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ("ทิพยประกันภัย”) ในสัดส่วนร้อยละ 99.05 และทิพยประกันภัยเป็นบริษัท แกนของกลุ่มบริษัทฯ ขอชี้แจงว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีการรับประกันภัย "อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่” ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว
โดยใน เหตุการณ์ครั้งนี้มีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ ("อาคาร สตง.”) ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ ถล่มลงมาทั้งหลัง ซึ่งโครงการก่อสร้างนี้ได้มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัยร่วมจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ ทิพยประกันภัย ในสัดส่วนร้อยละ 40 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 25 บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 25 และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วนร้อยละ 10
การร่วมรับประกันภัยในโครงการก่อสร้างอาคาร สตง. ดังกล่าว มีทุนประกันภัย แบ่งเป็น 3 หมวด ประกอบด้วย 1) มูลค่างานก่อสร้างตามสัญญา 2,136 ล้านบาท 2) ทรัพย์สินเดิมของ ผู้ว่าจ้าง 5 ล้านบาท และ 3) ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 30 ล้านบาทต่อครั้ง และ 100 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย โดยมีเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองร้อยละ 20 ของ ความเสียหายสำหรับแต่ละเหตุการณ์
การร่วมรับประกันภัยในสัดส่วนร้อยละ 40 ของทิพยประกันภัยตามที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ทิพยประกันภัยได้มีการจัดทำประกันภัยต่อในสัดส่วนร้อยละ 95 ของทุนเอาประกันภัย กับบริษัทประกันภัยต่อชั้นนำของโลกที่มีระดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Credit Rating) ไม่ต่ำกว่า A
นอกจากนี้ ทิพยประกันภัยยัง ได้จัดทำสัญญาประกันภัยต่อเพื่อความเสียหายส่วนเกินสำหรับความเสียหายจากภัยพิบัติหรือมหันตภัย Excess of Loss (XOL) ไว้อีกด้วย ดังนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่า แม้จะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ ทิพยประกันภัยยังคงมีความมั่นคงทางการเงิน และไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของทิพยประกันภัย อย่างมีนัยสำคัญ
อนึ่งในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีอาคาร สตง. นั้น จะต้องพิจารณาถึงมูลค่าของ อาคาร ณ เวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการพิจารณาว่าอาคารดังกล่าว ได้มีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว เป็นร้อยละเท่าไรของมูลค่าโครงการทั้งหมด เช่น หากการก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 50 ความเสียหายที่จะได้รับ ความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยก็จะเป็นเพียงร้อยละ 50 ของทุนเอาประกันภัยเท่านั้น ทั้งนี้ มูลค่าของ โครงการนี้ ณ วันเวลาที่เกิดเหตุจะถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป
นอกจากนี้ ทิพยประกันภัยได้มีการจัดเตรียมทีมงานและความพร้อมในการรับแจ้งเคลมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเพื่อตอบข้อซักถาม และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยพร้อมที่จะพิจารณาจ่ายค่าสินไหม ทดแทนอย่างรวดเร็ว ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อแจ้งเคลมและขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้าของทิพยประกันภัย โทร. 1736 กด 5199 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Line : dhipayainsurance หรือ อีเมล : general-claim@dhipaya.co.th
บริษัท ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีหนังสือชี้แจงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีการรับประกันภัย "อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่” ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว