ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เงินบาทในปี 2564 อ่อนค่าลงจากปีก่อน และเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง แต่ต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนการผลิต ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงในปี 2565
ดังนั้นธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นในปี 2565 ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่จำเป็นต้องคงอยู่ในระดับต่ำ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยอาจส่งผลให้เม็ดเงินจากภูมิภาคเอเชียไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปี 2565 ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้สกุลเงินบาทและสกุลเงินเอเชียอื่นๆ อ่อนค่าลง
แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัวในปีหน้า หลังเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน อาจทำให้เกิดความต้องการเงินบาทเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น ประกอบกับปี 2564 เงินบาทอ่อนค่ามากสุดของเอเชีย อาจส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าระยะสั้น และมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนจะสิ้นปี 2564 การเมืองของสหรัฐ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน สกุลเงินดอลลาร์อาจจะแข็งจากเกมการเมืองในเดือนธันวาคมและเงินบาทผันผวนได้ จากประเด็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะพิจารณาเรื่องเพดานหนี้หรือ การกู้เงินเกินเพดานหนี้ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ตลาดจับตาว่าจะเป็นอย่างไร เพราะปีหน้าสหรัฐจะมีเลือกตั้งกลางเทอมด้วย
สำหรับมุมมองของธนาคาร กรุงไทย ยังคงเป้าการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33 บาท/ดอลลาร์ (กรอบ 32.75-33.00 บาท/ดอลลาร์) เพราะปัจจัยพื้นฐานในประเทศยังไม่เปลี่ยนมาก โดยต้องติดตามสถานการณ์หลังเปิดประเทศ ทั้งด้านรายได้จากนักท่องเที่ยวและเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) รอการฟื้นตัว ที่ต้องจับตาคือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือกลายพันธุ์ว่า จะสามารถควบคุมได้หรือไม่
หากมีปัญหาเรื่องโควิด-19 กลับมา อาจจะเห็นนักท่องเที่ยวกลับมาในครึ่งหลังของปีหน้า บนสมมติฐานการฉีดวัคซีนแล้ว 80 ล้านโดสแล้ว
ทั้งนี้ระยะสั้น มองเงินบาทยังไม่แข็งค่ามาก จากปัญหาซัพพลายเชน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดยังขาดดุล ซึ่งต้องรอปํญหาซัพพลายเชนคลี่คลายและนักท่องเที่ยวกลับมา จึงจะเห็นดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง มองแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าปีหน้า โดยไตรมาส 2-3 จะเห็นการกลับมาแข็งค่าชัดเจน จากที่ไตรมาสแรก จะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวที่ 32.75 ไตรมาสสอง 32.50 ไตรมาสสาม 31.50 และไตรมาสสี่ หากจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาได้แล้ว โอกาสจะเห็นเงินบาทอยู่ที่ 31-30 บาทต่อดอลลาร์
“เราคิดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็ว ซึ่งก่อนเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในไตรมาสแรกของปีหน้า ดังนั้นไตรมาส 4 ปีนี้เงินบาทอาจจะแข็งค่า แต่ไม่มาก ส่วนเงินเฟ้อมีผลต่อประมาณการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยเร็ว อาจจะเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่าในไตรมาส 3 ปีนี้” นายพูน กล่าว
สำหรับเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันอ่อนค่า 10% กดดันผู้นำเข้า ที่ต้องเจอ 2 เด้งจากต้นทุนแพงขึ้น ทั้งราคาสินค้าแพงและเงินบาทอ่อน แม้พยายามจะปิดความเสี่ยงแล้วก็ตาม โดยเฉพาะถ้าเป็นการนำเข้าผลิต เพื่อใช้ในประเทศจะเครียดมาก
ส่วนแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายปีนี้ ที่ผ่านมาเกือบ 10 เดือน(ณ 27 ต.ค.64) จะเห็นว่า นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้น 58,450 ล้านบาท แต่เงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร 112,686 ล้านบาท โดยรวมนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรไทย จากปัจจัยบวกมาจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) อายุ 10 ปี 1.94%, อายุ 5 ปี 1.28% และอายุ 2 ปีอยู่ที่ 0.70%
สะท้อนการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 1.41%, 0.86%, 0.59% ตามลำดับ หรือหากเทียบเมื่อต้นปีที่ผ่านมาบอนด์ยิลด์จะอยู่ที่ 1.25%, 0.59% ,0.36% ตามลำดับ โดยตลาดพันธบัตรปีหน้ามีแนวโน้มบอนด์ยิลด์ขาขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภาครัฐที่มีการปรับแผนในการระดมทุนแทนการออกพันธบัตร เพื่อลดต้นทุนลง
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดเงินตลาดทุนในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใกล้จุดสูงสุดของวัฎจักรเศรษฐกิจ โดยเริ่มเห็นตลาดเอเชีย (ไม่รวมจีน) และตลาด EM โดยรวม ที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากโควิด-19 และยังเป็นตลาดทำผลตอบแทนได้น่าสนใจ
ระยะถัดไป ปีนี้และปีหน้าเงินเฟ้อเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา เพราะมีผลต่อการเลือกสินค้าลงทุน ถ้าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น อาจส่งผลบอนด์ยิลด์ปรับลดลง คนจะหันมาถือทองคำได้ ส่วนหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อาจจะได้รับอานิสงส์ แต่ต้องระวังหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ช่วงนี้ตลาดรอปัจจัยใหม่คือ การเปิดเมืองในวันที่ 1 พฤศจิกายนและเงินบาทเปลี่ยนทิศ อาจเห็นเงินบาทกลับมาแข็งได้เร็ว แต่เป็นกระแสชั่วคราว แม้จะเห็นเงินบาทแข็งค่าปลายปี แต่ต้องจับตาสัปดาห์หน้า ถ้าเฟดส่งสัญญาณปรับลดการทำคิวอีชัดเจน จะเห็นสกุลเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าและทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับทิศทางเงินบาท จะกลับมาแข็งค่าในเดือนธันวาคม หลังจากเฟดมีความชัดเจนเรื่องลดหรือถอนคิวอีและปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยทำให้เงินบาทแข็งค่าได้ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์ จากปลายปีที่คาดไว้ที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ปีหน้าเงินบาทยังผันผวนระหว่างทาง เช่นไตรมาส 2 อาจจะมีความเป็นไปได้ที่เงินบาททะลุ 33 บาท/ดอลลาร์ เพราะแนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดยังน้อยแต่กระแสเงินทุนไหลออก
“ตลาดน่าจะคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ เห็นการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น ถ้าราคาน้ำมันดิบเบรน์ทะลุ 90 ดอลลาร์/บาเรลในช่วงปลายปีนี้เท่านั้น เรามองว่า การผลิตน้ำมันน่าจะไล่ทันความต้องการ/ดีมานด์ได้ในไตรมาส 1 ปีหน้า เรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยชั่วคราวแต่หากมีการเปลี่ยนแปลงไปจากนี้อาจจะต้องจับตาอีก” นายอมรเทพ กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,727 วันที่ 31 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564