อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "แข็งค่า" ที่ระดับ  33.34 บาท/ดอลลาร์

05 พ.ย. 2564 | 00:34 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2564 | 10:23 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "แข็งค่า" ขึ้นตาใมราคาทองคำแนวต้านสำคัญยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.34 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.45 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นไม่มาก โดยเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

อย่างไรก็ดี ต้องระวังความผันผวนในฝั่งอ่อนค่า โดยเฉพาะในช่วงการประกาศรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ เพราะหาก ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาด อาจส่งผลให้ บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง

หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อและกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลง (จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาทองคำพอสมควร โดยมี Correlation อยู่ที่ 0.60 แปลว่า ราคาทองคำขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามด้วย )

อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะยังไม่รีบแข็งค่าขึ้นไปมาก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ โดยเฉพาะปัจจัยการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนให้ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติกลับเข้าตลาดทุนไทยเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ แนวต้านสำคัญของเงินบาทยังอยู่ในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่ ส่วนผู้นำเข้าบางส่วนก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทำให้ เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่โซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ นอกจากนี้ ต้องระวังการแข็งค่าหลุดระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นจุด Stop Loss ของบรรดาผู้เล่นต่างชาติ ทำให้อาจมีการ Cover Position เก็งกำไรเงินบาทอ่อน และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เร็ว

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคากลางหลัก หลังจากที่ ทั้งเฟดและธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต่างมีมติคงอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับส่งสัญญาณไม่เร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย สวนทางกับที่ตลาดประเมินไว้

ซึ่งภาพดังกล่าวยังได้ช่วยหนุนให้หุ้นในกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นได้ดี ตามบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ปรับตัวลดลง (บอนด์ยีลด์ลดลง ทำให้ Valuation หุ้นเทคฯ น่าสนใจมากขึ้น) โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้นกว่า +0.81%

ขณะที่ ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.42% ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่า อาทิ บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธีม Reopening เช่น Expedia +12% หลังประกาศงบการเงินออกมาดีกว่าคาด พร้อมปรับมุมมองเชื่อมั่นแนวโน้มการฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยว, Airbnb +4.7% หลังรายได้ปรับตัวขึ้นดีกว่าคาด

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้น +0.55% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบริษัทโดยรวมที่ยังออกมาดีต่อเนื่อง รวมถึงแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์

ทำให้ Adyen +3.7%, ASML +2.5% อย่างไรก็ดี หุ้นกลุ่มการเงินเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง Santander -2.2%, Intesa Sanpaolo -1.8% หลังผู้เล่นตลาดบางส่วนเริ่มปรับลดความคาดหวังการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก 

นอกจากนี้ ในฝั่งตลาดเอเชีย เรามองว่า ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจเผชิญแรงกดดันจากความกังวลปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ หลังบริษัท Kaisa Holding ได้ผิดนัดจ่ายเงินให้กับผู้ลงทุนในสินทรัพย์ Wealth Management Product (WMP) แต่เชื่อว่าหุ้นกลุ่มเทคฯ ในตลาดจีนหรือฮ่องกงอาจสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง ตามโมเมนตัมการปรับตัวขึ้นของหุ้นเทคฯ ทั่วโลก

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดเริ่มปรับลดมุมมองที่เชื่อว่าธนาคารกลางจะขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ทั่วโลก ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างปรับตัวลดลง นำโดยบอนด์ยีลด์ 2 ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 20bps สู่ระดับ 0.50% หลัง BOE คงดอกเบี้ยพร้อมกับส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย

ซึ่งสวนทางกับมุมมองของตลาดที่เชื่อว่า BOE จะขึ้นดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในปีนี้ และ 4-5 ครั้งในปีหน้า นอกจากนี้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลก ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน นำโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 14bps แตะระดับ 0.93% ส่วนบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลงราว 7bps สู่ระดับ 1.54%

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้สะท้อนว่า ขาขึ้นของบอนด์ยีลด์ได้จบลงแล้ว เรามองว่า บอนด์ยีลด์ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด รวมถึงการทยอยถอนสภาพคล่องจากตลาดผ่านการลดคิวอีของบรรดาธนาคารกลาง 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ส่งผลให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 94.33 จุด หลังจากที่ ค่าเงินปอนด์ (GBP) อ่อนค่าลงกว่า -1.4% สู่ระดับ 1.35 ดอลลาร์ต่อปอนด์ จากการที่ BOE คงดอกเบี้ยและส่งสัญญาณไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดหวังไว้

ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์กลับไม่ได้กดดันราคาทองคำมากนัก เนื่องจากราคาทองคำยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ หนุนให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,792 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากที่ดิ่งลงไปแตะระดับ 1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงก่อนการประชุมเฟด ซึ่งเราเชื่อว่า จะเห็นผู้เล่นทยอยขายทำกำไรราคาทองคำมากขึ้นในช่วงระดับราคาดังกล่าว 

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะรอจับตาการรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งตลาดมองว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดยยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้นกว่า 4 แสนรายในเดือนตุลาคม ช่วยให้อัตราว่างงาน (Unemployment) ลดลงเหลือ 4.7%

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการหาแรงงานที่ยากขึ้นจะช่วยให้รายได้ของแรงงาน (Average Hourly Earning) ปรับตัวขึ้นกว่า +4.9%y/y ซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้เฟดคลายกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ และการใช้จ่ายครัวเรือน

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม โดยตลาดมองว่า การใช้จ่ายที่ฟื้นตัว รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนหน้า จะหนุนให้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) เร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.80% ทั้งนี้ การเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งรีบปรับขึ้นดอกเบี้ย 

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.35-33.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ ใกล้ระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.41 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยแม้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบเดิม แต่กรอบแข็งค่าในระหว่างวันอาจจำกัด เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงมากกว่าคาด 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.25-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด-19 การรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานและเครื่องชี้ตลาดแรงงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ