โควิด-19 ผลักครัวเรือน เผชิญ‘รายได้ลด-ค่าใช้จ่ายเพิ่ม’

05 พ.ย. 2564 | 10:47 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2564 | 17:48 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผย ผลสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออม กรุงเทพปริมณฑล สะท้อนผลกระทบโควิดระลอก3 พบกลุ่มรายได้ลดลงสูงขึ้นต่อเนื่องถึง 73% ผลจากชั่วโมงทำงานลดลง จากการล็อกดาวน์ แถมผู้มีเงินออม รองรับตกงานเพียง 1-3 เดือนเท่านั้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต้องปิดกิจการ ส่งผลให้คนต้องตกงานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนการเกิดระบาดของโควิด จากรายงานของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ (อีไอซี) พบว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.81 แสนคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 104.6% เทียบจากสิ้นปี 2562 ที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน

 

ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 7.45 แสนคนในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 และมีแนวโน้มคนตกงานเกิน 1 ปีมากขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นคนว่างงานระยะยาว ขณะเดียวกัน แรงงานในระบบออกยังออกนอกระบบ เพื่อทำงานอิสระมากขึ้น แถมรายได้แรงงานที่สูญเสียในช่วงโควิดยังสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาทต่อปี 


 

ล่าสุดศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปิดผลสำรวจภาวะหนี้สินและเงินออมของประชาชน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 350 ตัวอย่างพบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 สถานการณ์ด้านรายได้ มีกลุ่มที่มีรายได้ลดลงขยับเพิ่มขึ้นถึง 73% จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีสัดส่วนเพียง 60% และ 56% ในไตรมาสแรกปี 2564 โดยยังเจอภาวะลดชั่วโมงการทำงานหรือค่าจ้างปรับลดลง ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้เท่าเดิมมีสัดส่วนลดลงมาอยู่ที่ 27% จากไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ที่ 40% 

ผลสำรวจภาวะหนี้สิน-เงินออมของประชาชน

ขณะค่าใช้จ่ายประจำวันพบว่า กลุ่มที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมีสัดส่วน 55.7% จาก 36% เมื่อเทียบผลสำรวจในไตรมาส 2 และจาก 18.3% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา นอกจากครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ที่ไม่สม่ำเสมอหรือไม่ปกติแล้วกลับมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย 

ขณะเดียวกันยังเผชิญภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่่สูงกว่า 40% เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านรายได้และค่าใช้จ่าย จะอยู่ในกลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 15,000-30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจจะก่อหนี้มาก่อนโควิด และอยู่ในกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนและกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ส่วนหนึ่งไตรมาส 3 มีการปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป 

 

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กลุ่มที่  DRS สูงกว่า 40% นั้นจะมีหนี้ 2 ก้อนหลัก(2 บัญชี) เช่น หนี้บ้านหรือหนี้รถและจะพ่วงด้วยหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้บ้าน พ่วงบัตรเครดิตหรือหนี้รถ พ่วงสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งตัวเลขเหล่านี้สะท้อนผลกระทบครัวเรือนค่อนข้างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิดระลอก 3

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

 

โดยเฉพาะภาวะหนี้สินและเงินออมของครัวเรือนรายย่อย ยังคงย่ำแย่เพิ่มขึ้นในแง่ของรายได้ เมื่อเปรียบเทียบผลสำรวจ 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มเปราะบางที่เผชิญทั้งปัญหารายได้ปรับลด ค่าใช้จ่ายปรับเพิ่ม ขณะที่ภาระหนี้สูงเกินกว่า 40% ต่อรายได้เพิ่มขึ้น


นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาผลสำรวจด้านการออมของครัวเรือนพบว่า ส่วนใหญ่ 34.6% ของผู้มีเงินออมจากผลสำรวจ 350 ตัวอย่างประมาณกว่า 58% หรือกว่า 200 ตัวอย่างประเมินงบดุลของตัวเองแย่ลง โดยมีเงินออมที่สามารถประคองสถานการณ์อยู่ได้ 1-3 เดือนเท่านั้น หมายถึงเงินออมที่มีอยู่ไม่เพียงพอประคองสถานการณ์มากไปกว่า 1-3 เดือน รองลงมาสัดส่วน 30.8% ของผู้มีเงินออมมองว่า จะประคองสถานการณ์ได้ 3-6 เดือน

 

“ผลสำรวจจากไตรมาส 1 ปี 2564 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 สะท้อนผลกระทบรุนแรงต่อครัวเรือน แต่มองไปปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวดีขึ้นคาดว่า แรงกดดันต่อครัวเรือนน่าจะลดน้อยลง แต่ยังไม่สามารถกลับสู่ภาวะก่อนโควิดได้ง่ายนัก ประกอบกับสถานการณ์จ้างงาน และภาระหนี้ต่อครัวเรือนปีหน้ายังทรงตัวสูงใกล้เคียงปีนี้ที่ประเมินไว้ที่ 90-92% ต่อ GDP” นางสาวกาญจนากล่าว

 

ทั้งนี้แม้ว่าปีหน้า ตลาดส่วนใหญ่ประเมินสถานการณ์ระบาดของโควิดจะคลี่คลาย ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ หรือจำนวนผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งทุกคนมองสถานการณ์เศรษฐกิจปีหน้าจะมีสัญญาณบวกที่ดีขึ้น และหนึ่งในสมมติฐานคือ สถานการณ์โควิดจะทุเลาลง แต่ยังไม่มีใครการันตี เพียงคาดหวังการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและลดแรงกดดันต่อภาคครัวเรือนบ้าง 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,728 วันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564