สัญญาณดี “การบินไทย” อาจไม่ต้องกู้เพิ่มถึง 5 หมื่นล้าน

08 พ.ย. 2564 | 05:20 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2564 | 11:15 น.

คลัง เผย “บินไทย” สัญญาณบวกหลังเริ่มกลับมาบินได้ คาดอาจไม่ต้องกู้เสริมสภาพคล่องถึง 5 หมื่นล้าน ขณะที่สังคมเริ่มกังขา หลัง “บินไทย” เร่งขายเครื่องบินเสริมสภาพคล่องไม่โปร่งใส

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลาโหม วันนี้ว่า เป็นเพียงการเข้ารับฟังความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เท่านั้น โดยปฏิเสธตอบคำถามกรณีการช่วยหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยวงเงิน 25,000 ล้านบาท

 

โดยแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในกรณีการเพิ่มทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องตามแผนฟื้นฟูการบินไทยวงเงิน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการบินไทยกู้เงินเองจากสถาบันการเงินของเอกชน วงเงิน 25,000 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งทุนหรือค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 25,000 ล้านบาทให้นั้น ว่า ยังต้องดูสถานการณ์หลังกลับมาเปิดการบินในช่วง 1-2 เดือนนี้ก่อน

 

เนื่องจากเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว ซึ่งจากตัวเลขที่การบินไทยรายงาน ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี และอาจทำให้การบินไทยไม่จำเป็นต้องหาเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องถึง 50,000 ล้านบาทตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูฯ

 

ส่วนจะต้องการเท่าไหร่ การบินไทยจะต้องเข้ามาหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง ทั้งนี้ในแผนฟื้นฟูฯ ได้กำหนดชัดเจนว่าคลังสามารถช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ได้ โดยอาจให้บริษัทลูกของกระทรวงการคลังช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมกรณีที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศขายเครื่องบิน เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่งทางธุรกิจ และเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงานนั้น ขณะนี้ได้มีการตั้งประเด็นคำถามการขายทรัพย์สินของการบินไทย ว่า เป็นไปตามเงื่อนไขและแผนการฟื้นฟูกิจการหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการแจกแจงรายละเอียดของการขายเปรียบเทียบการซื้อ ค่าเสื่อม และราคาขาย ณ ปัจจุบัน 

 

ทำให้หลายฝ่ายกังขาการขายทรัพย์สิน โดยเฉพาะการขายเครื่องบินให้เอกชน ที่ซื้อมาในราคาแพง แต่ขายในราคาที่ถูก 

 

อย่างไรก็ตามแม้การบินไทย ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว แต่กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ก็ต้องทำอย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และโปร่งใส แม้การบินไทย จะมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องเร่งขายทรัพย์สิน เพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ หรือชำระหนี้ที่คงค้าง ก็ตาม

 

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคม ในฐานะนายทะเบียน ยังไม่เซ็นยินยอมการขายเครื่องบินนั้น ต้องสอบถามว่าเหตุใด กระทรวงคมนาคม ไม่ยอมเซ็นให้ขายเครื่องบิน  ทั้งๆที่การบินไทย มีความจำเป็นต้องขาย เพื่อลดต้นทุนขององค์กร