นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความจำเป็นในการขยายกรอบการก่อหนี้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ซึ่งกำหนดกรอบหนี้รวมไว้ไม่เกิน 30% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี นั้น ยังต้องดูว่ามีช่องว่างตามกรอบเหลือมากน้อยแค่ไหน เพราะโครงการที่ได้รับการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ก็มีการใช้วงเงินในกรอบ 30% จึงต้องรอดูการใช้จ่ายแต่ละโครงการจะมีเงินเหลือมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเงินที่เหลือจะต้องส่งคืนในงบประมาณปีถัดไป ก็จะทำให้มีเงินเข้ามาหมุนเวียน และทำให้วงเงินตามกรอบก่อหนี้ลดลง ดังนั้นต้องขอดูส่วนนี้ก่อน คิดว่าไม่นาน และทันกับการหาเงินที่จะต้องจ่ายเกษตรกรในงวดถัดไป
“จะขยายกรอบหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องไปดูก่อน เช่น โครงการที่อนุมัติไปในปีเพาะปลูก 63/64 ขณะนั้นราคาดี การชดเชยน้อย วงเงินที่ขอไปอาจไม่ใช้ เมื่อปิดโครงการต้องส่งเงินคืน และอนาคตหากสถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้น ช่องว่างการชดเชยส่วนต่างราคาก็จะลดลง โดยวงเงินที่ขออนุมัติมาจะตั้งไว้ที่การชดเชยสูงสุด ดังนั้นปีที่แล้วราคายางดี ราคาปาล์มดี ทำให้กรอบวงเงินที่ขอไว้ใช้ไม่หมด เพราะส่วนต่างที่ต้องจ่ายชดเชยน้อยลง หรือบางช่วงอาจไม่ได้ใช้เงินชดเชยราคาเลย ทำให้มีส่วนต่างคืนกลับมา” นายอาคม กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28 ที่กำหนดให้รัฐบาลต้องมียอดหนี้คงค้างรวมกันได้ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้ปีงบ 65 รัฐบาลจะมีหนี้สะสมไม่เกิน 930,000 ล้านบาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ที่ตั้งไว้ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งขณะนี้มียอดหนี้สะสมรวมกันใกล้แตะเพดานดังกล่าวแล้ว ขณะที่การใช้เงินเพื่ออุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ฤดูกาลผลิต 64/65 ได้ตั้งงบไว้ที่ 1.74 แสนล้านบาท ทำให้เสี่ยงผิด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 28
ขณะที่ความคืบหน้าการจ่ายเงินชดเชยโครงการประกันรายได้ข้าว วันที่สอง 10 พ.ย.64 พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่างผิดหวัง ไม่ได้รับโอนเงินส่วนต่างตามที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งไว้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวงวดที่ 3 และ 4 ซึ่งกำหนดจะได้รับเงินวันที่ 10 พ.ย.64 กลับถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หลังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จ่ายเงินส่วนต่างไปจนเต็มวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. ก้อนแรก 13,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งจากนี้จะต้องรอ ครม.อนุมัติเงินก้อนใหม่มาให้ก่อนถึงจะเริ่มจ่ายส่วนต่างงวด 3 และ 4 หรืองวดอื่น ๆ จนครบงวดที่ 33 ได้