บลจ.บีแคป โชว์ AUM สิ้นไตรมาส 3/64 ทะลุ 6.3 หมื่นล้าน

13 พ.ย. 2564 | 04:08 น.
อัปเดตล่าสุด :13 พ.ย. 2564 | 11:07 น.

บลจ.บีแคป เผยผลการดำเนินงานสิ้นไตรมาส 3/64 มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 22.15% จากสิ้นปี 2563 หลังดึง PICTET Group ผู้นำไพรเวทแบงก์ จากสวิสเซอร์แลนด์ เป็นพันธมิตรธุรกิจ ออก 2 กองทุน BCAP-GMA- BCAP-GMA Plus กระจายลงทุนทั่วโลก

นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บางกอกแคปปิตอล หรือ BCAP เปิดเผยว่า  ผลการดำเนินงานณ สิ้นไตรมาส 3/2564 มีสินทรัพย์ทั้งหมดภายใต้การบริหารจัดการ(Asset under management :AUM) รวม 63,898 ล้านบาท เติบโต 22.15% จากสิ้นปี 2563 โดยเป็นกองทุนส่วนบุคคล 20,794 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 20,080 ล้านบาท และกองทุนรวม 23,023 ล้านบาท

นางเมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บลจ. บางกอกแคปปิตอล จำกัด

ทั้งนี้ การเติบโตของ AUM  22.15% จากสิ้นปีที่แล้ว มีส่วนจากการออกกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล มัลติ แอสเซท ( BCAP-GMA) และกองทุนเปิดบีแคป โกลบอล มัลติ แอสเซท พลัส (BCAP -GMA Plus ) ที่เป็นหนึ่งในส่วนของ strategic partner ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ และ PICTET Group ผู้นำไพรเวทแบงก์ชั้นนำของโลก ประเทศ สวิสเซอร์แลนด์

นอกจากนี้ เพื่อการให้บริการลูกค้าและแนะนำการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น บริษัทได้แต่งตั้ง นายธวัชชัย วงศ์รัตนศิริกุล ผู้จัดการกองทุนอาวุโส เป็นหัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ขึ้นตรงกับ ดร ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร  รองกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน  โดยหน้าที่หลักของ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างทีมการลงทุนกับนักลงทุน และ พันธมิตรทางธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ตัวแทนขายหน่วยลงทุน ผู้แนะนำการลงทุน

 

“BCAP เป็นเพียงบลจ เดียวในไทยที่มีมุมมองการลงทุนในระดับ Global ให้กับนักลงทุน และมีกองทุนที่ตอบโจทย์ให้กับนักลงทุนทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล สำหรับลูกค้าระดับ Ultra High Networth เรายังคงมุ่งมั่นที่จะมอบบริการให้ดีที่สุดให้กับลูกค้า เพื่อตอบโจทย์การลงทุนของลูกค้า”นางเมธ์วดีกล่าว

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจและภาวะการลงทุนในปี 2565 นางเมธ์วดีกล่าวว่า ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย หลังการฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 1/2564  มูลค่าพื้นฐานหุ้นอยู่ในระดับสูง อีกทั้งธนาคารกลางประเทศต่างๆ มีโอกาสปรับเปลี่ยนแนวนโยบายการเงินให้ตึงตัวมากขึ้น

 

ทั้งนี้ในมุมมองผู้จัดการกองทุน คาดการณ์ว่า แม้เศรษฐกิจโลกในปีหน้า จะชะลอลงเทียบปี 2564  แต่ยังเติบโตในระดับที่สูงกว่าศักยภาพ อันเป็นผลจากแรงส่งของมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยแม้จะยังเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต แต่เริ่มเห็นแสงสว่างจากนักท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ

 

โดยมองว่า อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงต่อเนื่องในครึ่งแรกของปี ก่อนที่จะลดระดับลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งโดยรวมจะไม่ได้ส่งแรงกดดันต่อการเร่งปรับเปลี่ยนหรือใช้นโยบายการงานแบบตึงตัวอย่างเฉียบพลันของธนาคารกลาง

 

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า มูลค่าพื้นฐานหุ้นโลกและไทยอยู่ในระดับสูง จากสภาพคล่องที่ล้นระบบ และผลตอบแทนในสินทรัพย์มั่นคงอยู่ในระดับต่ำ ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเติบโตสู่ภาวะปกติ หลังเร่งขึ้นจากฐานต่ำในปีที่แล้ว

 

สำหรับผลตอบหุ้นไทยสามารถสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงหุ้นโลกที่ระดับ 7-8% โดยหุ้นโลกเน้นลงทุนในทวีปยุโรป ที่มีมูลค่าพื้นฐานต่ำ ขณะที่ประเทศสหรัฐฯ ที่มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง อีกทั้งเน้นสะสม Thematic Funds สำหรับผลตอบแทนในระยะยาว เช่น กองทุนเปิดบีแคป คลีน อินโนเวชั่น (BCAP-Clean) และกองทุนเปิดบีแคป เน็กซ์ เจน เฮลธ์ (BCAP- XHealth) 

 

ขณะที่หุ้นไทย คาดว่ากลุ่มการเงินที่เน้นปล่อยสินเชื่อระดับล่าง หรือ Micro Finance จะสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงกว่าตลาดอีกครั้ง