thansettakij
โอไมครอน ลางร้ายเศรษฐกิจโลก ผลสะเทือนเศรษฐกิจไทย

โอไมครอน ลางร้ายเศรษฐกิจโลก ผลสะเทือนเศรษฐกิจไทย

01 ธ.ค. 2564 | 10:22 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2564 | 17:22 น.

โลกจับตาการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หวั่นกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและกระทบต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โอกาสเห็นการฟื้นตัวกลับไปสู่การระบาดต้องล่าช้าออกไป

ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงระนาว ทั้งดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ หุ้นเอเชีย และราคานํ้ามัน หลังมีกระแสข่าวพบการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในหลายประเทศสะท้อนความหวาดกลัวการกลับมาระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่า สายพันธ์ุนี้เป็นสายพันธ์ุที่น่ากังวลและอาจมีความสามารถในการแพร่กระจายได้ดีกว่า สายพันธุ์เดลตา อีกทั้งได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในหลายพื้นที่ในแอฟริกาแล้วรวมทั้งอาจมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผลกระทบของสายพันธ์ุโอไมครอนจะเป็นอย่างไรแต่หากสร้างผลกระทบรุนแรงนั่นหมายถึงว่า หลายประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดอีกครั้งยิ่งไปกว่านั้น การล็อกดาวน์รอบนี้ รัฐบาลและธนาคารกลางของแต่ละประเทศเริ่มจะมีข้อจำกัดในการ กระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจุบันเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง อีกทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานทาน หรือ SupplyChain จะถูกกระทบจากผลของล็อกดาวน์ ทำให้เงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูงแม้ความต้องการบริโภคจะลดลง

 

ขณะนี้เริ่มเห็นหลายประเทศมีมาตรการตอบสนองอย่างรวดเร็วแล้ว ด้วยการออกมาตรการจำกัดการเดินทางจากบางประเทศในแอฟริกาแล้ว รวมถึงไทยที่ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้เดินทางเข้ามาในไทยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายมองว่า จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น ประชาชนและภาคธุรกิจมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น หลังการผ่อนคลายล็อกดาวน์และเปิดประเทศต้องชะงักงันทำให้แนวโน้มที่จะเห็นเศรษฐกิจไทยกลับไปสู่ระดับก่อนการระบาดในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ก็ต้องล่าช้าออกไปอีก

ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ปัจจัยบวกของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดประเทศได้เร็ว การคลายล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและบรรยากาศทางธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ทำให้หลายหน่วยงานปรับเพิ่มประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทย ทั้งปี 2564  และแนวโน้มปี 2565 อาจต้องทบทวนกันใหม่อีกครั้ง เมื่อการปรากฎชื่อสายพันธ์ุ โอไมครอน

 

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจราว 6% จากปกติที่เติบโตราว 2% และปีก่อนติดลบราว 3.4% ขณะที่จีนเติบโตต่อเนื่อง 8% ส่งผลต่อความสามารถในการส่งออกสินค้าได้มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนตุลาคมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ดังนั้นหากทุกประเทศต้องหันมาเข้มงวดในการควบคุมการระบาดอีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี่้ก็จะหยุดชะงักลงเช่นกัน

 

แถมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยรอบนี้ ยังจะไม่เหมือนกับทุกครั้งเพราะการระบาดของโควิด-19 แม้จะมีบางธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ แต่ก็มีบางธุรกิจได้ประโยชน์เช่นกัน โดยจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมก็ฟื้นตัวเกินกว่าช่วงเกิดโควิด-19 แล้ว เช่น ภาคเทคโนโลยี ภาคเกษตรภาคอาหาร จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

นายศุภวุฒิ สายเชื้อที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่ามีความเป็นห่วง หลังจากมีสายพันธุ์โอไมครอน เพราะบางประเทศยังมีการฉีดวัคซีนน้อย ซึ่งจะเป็นพื้นที่ให้ไวรัสกลายพันธุ์ไปได้อีก ถ้าไม่แก้ปัญหาภาพใหญ่หรือฉีดวัคซีนให้ครบทั่วโลก อาจจะทำให้เกิดแรงกระแทกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกให้ชะงักงันได้

 

การเปิดประเทศได้เร็ว ทำให้หลายสำนักเศรษฐกิจหันมาปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ ทั้งปี 2564 และทิศทางปี 2565 ใหม่ หลังจากเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาส 2 และทิศทางสดใสจากนี้ไป อาจต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง หลังการปรากฎตัวของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์โอไมครอน ก็เป็นได้ 

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,736 วันที่ 2-4 ธันวาคม พ.ศ. 2564