ร่างประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาพ.ศ....ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)จะเปิดรับฟังความเห็น(เฮียริ่ง)ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 มีสาระสำคัญคือ ดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ไม่เกิน 15% รถใช้แล้วและจักรยานยนต์ไม่เกิน 20% ผู้เช่าซื้อจะคืนรถได้ต้องชำระมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 รถคืนจบหนี้ไม่มี ให้เรียกค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่ประจักษ์ในขณะรับรถคืนได้
ส่วนติ่งหนี้ที่เหลือจากการขายรถยึด ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหลังที่บอกเลิกสัญญาแก่ผู้เช่าซื้อ ส่วนลดปิดบัญชีก่อนกำหนดเป็นขั้นบันได เบี้ยปรับเรียกได้ไม่เกิน 15% จะนำเบี้ยปรับไปหักชำระค่างวดที่เรียกเก็บต้องแจ้งล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งคล้ายของเดิม และต้องแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำใช้สิทธิ์ซื้อคืน 30 วัน โดยผู้เช่าซื้อต้องแจ้งสิทธิ์ใน 20 วัน
นายภิญโญ ธนวัชรกรณ์ สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วหรือ รถมือสอง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเฮียริ่งวันที่ 16 ธันวาคมนี้จะเป็นครั้งสุดท้าย ผลจะออกมาอย่างไร ก็คงต้องปฏิบัติตามนั้น ซึ่งในส่วนของผู้ขายรถมือสองไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มองว่า ถ้าบิดเบือนอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ต่อไปอนาคตธนาคารพาณิชย์จะตั้งกำแพงสูงขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ
“จริงๆทุกวันนี้ กลไกตลาดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ดอกเบี้ยที่เก็บต่ำกว่าอัตราเพดานที่ 15% เห็นได้จากธนาคารปล่อยกู้รถมือสองที่มีอายุ 10 ปี คิดดอกเบี้ย 5-6% ส่วนอายุรถ 1-4 ปี บางค่ายกำหนดดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 2.9% โดยรวมไม่น่าจะเกิน 4% แต่ต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้กู้ด้วย จึงเห็นบางธนาคารเลือกปล่อยสินเชื่อเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อชัดเจน”นายภิญโญกล่าว
แหล่งข่าวจากตลาดรถมอเตอร์ไซค์กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มคนที่กู้สินเชื่อเพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์ ส่วนใหญ่เป็นประชาชนกลุ่มรากหญ้า ซึ่งมีรายได้ที่ไม่แน่นอน รวมถึงหลักฐานทางการเงินไม่ชัดเจน ทำให้สถาบันการเงิน แม้กระทั่งเช่าซื้อไม่เข้าไปปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่จะเลือกปล่อยกู้เฉพาะกลุ่มระดับบนถึงกลางเพราะมีกำลังซื้อสูง
ขณะที่กลุ่มรากหญ้าที่หลักฐานทางการเงินไม่ชัดเจน ไม่มีทางเลือกต้องใช้บริการเงินกู้นอกระบบ(อาบัง หรืออาเจ้ หรือเฮียที่เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่) รวมถึงร้านขายมอเตอร์ไซค์ที่พร้อมจะทำสัญญาเงินกู้เพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์ซึ่งคิดดอกเบี้ยสูง 5-10% ต่อเดือน
ดังนั้น หากรัฐต้องการช่วยเหลือกลุ่มรากหญ้าจริงๆ อยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนวงเงินให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐหรือแบงก์รัฐปล่อยกู้กลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบาง แต่หากสคบ.เข้ามาคุมดอกเบี้ยสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ เท่ากับเป็นการผลักกลุ่มรากหญ้าที่ต้องใช้เงินกู้ 90% ให้ออกไปกู้นอกระบบ
“ผู้บริหารแบงก์และแบงก์รัฐระดับปฏิบัติการ รับโจทย์ปล่อยกู้ แต่อย่าให้เกิดหนี้เสีย แต่สินเชื่อมอเตอร์ ไซค์มีความเสี่ยงสูงมาก 30-40% เพราะ 1-2 ปีคนกู้จะทิ้งรถ เวลายึดรถมาแทบจะเป็นซาก ซึ่งสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ถ้าบริหารไม่ดี มีโอกาสเจ๊งเหมือนผม ผมทำสินเชื่อมอเตอร์ไซค์เจ๊งมาแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ธุรกิจจำนำโฉนด เพราะฉะนั้น ถ้า สคบ.จะควบคุมอัตราดอกเบี้ยที่ 20% จะเป็นการผลักให้กลุ่มนี้ต้องออกนอกระบบมากขึ้น”แหล่งข่าวกล่าว
ดังนั้น จึงต้องการให้รัฐ สคบ. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เน้นไปที่กลุ่มรากหญ้า เข้าไปดูปัญหาว่า ทำไมการสูญเสียจึงสูง ทำไมจึงเปราะบาง ทำไมเข้าไม่ถึงเงินสินเชื่อ เพราะสถาบันการเงินมีแบ่งกลุ่มตามคุณภาพผู้กู้ จะเลือกปล่อยสินเชื่อที่สามารถคุมความเสี่ยงได้
นางกฤติยา ศรีสนิท ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน)กล่าวว่า ประเด็นในการเฮียริ่งคือ ภาครัฐจะควบคุมอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ที่ 15% รถยนต์มือสองรวมทั้งมอเตอร์ไซด์ที่ 20% ซึ่งไม่ว่าจะสถาบันการเงิน สมาคมเช่าซื้อ แต่ละบริษัทมีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ภาครัฐต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้บริโภค และผู้ประกอบการ และลูกค้าที่เริ่มต้นการทำงานจะต้องหาแนวทางให้มีรถใช้ ซึ่งบริษัทจะต้องปรับตัว
ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับต่ำ และเป็นไปตามกลไกของตลาดคือ เป็นไปไม่ได้ที่สถาบันการเงินจะปล่อยอัตราดอกเบี้ยสูงแล้วจะมีลูกค้ามาใช้บริการ
“ไม่ว่าผลเฮียริ่งออกมาอย่างไร เราก็ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่เชื่อว่า รัฐจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งจริงๆทุกวันนี้อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยอยู่ในตลาดไม่ได้แพงมาก แต่ถ้าหากมีการคุมอัตราดอกเบี้ยจริง เมื่อถึงวันหนึ่งแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เราจะต้องกลับมาเฮียริ่งอีกครั้งหรือ”นางกฤติยากล่าว
อย่างไรก็ตาม หากมีการเข้ามาควบคุมอัตราดอกเบี้ย อาจต้องมีการปรับเงื่อนไขให้คุ้มความเสี่ยงและต้นทุนของบริษัท พิจารณาตามกลุ่มลูกค้า เช่น ปรับวงเงินดาวน์เพิ่มขึ้น และขยายระยะเวลาผ่อนชำระ