ธปท. ปรับแผนทดสอบสกุลเงิน "Retail CBDC" ปลายปี 65 ก่อนต่อยอดพัฒนานวัตกรรม

24 ธ.ค. 2564 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 17:32 น.

ธปท. "Retail CBDC" ปลายปี 65 หลังต่อยอดจับมือ 3ธนาคารกลาง"จีน ฮ่องกง ยูเออี"พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ

นายกษิดิศ ตันสงวน รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เปิดเผยในงาน Media Briefing สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ  โดยระบุว่า ธปท. จะเริ่มทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับภาคประชาชนหรือ Retail CBDC ในวงจำกัดภายในธปท.โดยร่วมกับผู้ให้บริการทั้งธนาคาร กับนอนแบงก์และประชาชนรายย่อยเพื่อทดสอบการใช้ในช่วงปลายปี 2565

 

"เราขยายไทม์ไลน์เพื่อให้มั่นใจจากเดิมกำหนดจะทดสอบไตรมาส2ปี2565 แต่เนื่องจากต้องปรับจูนประเด็นการหารือระหว่างผู้ร่วมแต่ปลายปีหน้าคาดว่าจะทำPilotในกลุ่มจำกัด คาดว่าจะมีประชาชน ร้านค้า/นอนแบงก์ และผู้ให้บริการกว่า 1หมื่นราย"

สำหรับแผนการทดสอบจะมี 2 ส่วน คือ 1.ระบบพื้นฐานสามารถเชื่อมต่อได้ (Foundation track) และ 2. จะพัฒนานวัตกรรมต่อยอดในอนาคต(Innovation track) เมื่อมั่นใจเรื่องความเสี่ยง ในหลายมิติ รวมถึง ภาคธุรกิจจะทำโอน-จ่าย-ถอน ธปท.ก็ต้องประเมินว่าทำแล้วจะกระทบความเสี่ยงหรือธปท.อย่างไรบ้าง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท.กล่าวเสริมว่า แผนพัฒนา Retail CBDC ของไทยจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่ได้มีปัญหาเรื่องการกระจายเงินสด หรือระบบชำระเงิน และความตั้งใจออก Retail  CBDCของเรา เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐาน  ต่อยอดเงินสดที่มีอยู่แล้ว และต่อยอดนวตกรรม ซึ่งคนละกลุ่มเป้าหมายกับ Stable Coin หรือ Cryptocurrencyจึงไม่เป็นคู่แข่งกันที่ผ่านมาธปท.ได้พัฒนา โครงการอินนนท์ หรือสกุลเงินดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ(Wholesale CBDc)ซึ่งสามารถโอนเงินระหว่างประเทศCross Border )ปัจจุบันได้ต่อยอดร่วมมือกับธนาคารกลาง 3ประเทศจีน  ฮ่องกง ยูเออี

 

 

อนึ่ง CBDC  หรือCentral Bank Digital Currency คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดย ธปท. ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนเงินบาทหรือธนบัตร เพียงแต่อยู่ในรูปแบบดิจิทัล สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย และสามารถรักษามูลค่าให้ไม่ผันผวน ซึ่งต่างจาก cryptocurrency ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักมีมูลค่าที่ผันผวน และความเสี่ยงจะขึ้นกับผู้ออกเหรียญ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ขณะที่ stablecoin แม้ว่าจะมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่าไม่ผันผวนมากนัก แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ออกอยู่เช่นกัน ระบบการชำระเงินที่ให้บริการประชาชนในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว สะท้อนจากยอดผู้ใช้งานและจำนวนบัญชีพร้อมเพย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพร้อมเพย์มีจำนวนผู้ลงทะเบียนแล้ว 67.5 ล้านหมายเลข (ID) มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 34.9 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 9.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน.