วิจัยกรุงศรีชี้ผลกระทบจากโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทย 3กรณี

08 ม.ค. 2565 | 23:53 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ม.ค. 2565 | 07:25 น.

วิจัยกรุงศรีคาดโอไมครอนกระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้า 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ ระบุเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ไตรมาสแรกปี2566 ซึ่งช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปีนี้

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลับมาสร้างความกังวลต่อระบบสาธารณสุขและเศรษฐกิจทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากสายพันธุ์โอไมครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในหลายประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันพุ่งสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดอย่างต่อเนื่อง

 

วิจัยกรุงศรีศึกษาความเป็นไปได้ของการระบาดสายพันธุ์โอไมครอนเป็น 3 กรณี คือ กรณีฐาน กรณีเลวร้าย และกรณีเลวร้ายที่สุด โดยวิจัยกรุงศรีใช้แบบจำลอง SIR เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อพบว่า

 

ในกรณีฐาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนลดลงอย่างช้าๆ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 50 คนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 8.8 แสนราย มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 พันคนในช่วงเดียวกัน

ส่วนในกรณีเลวร้าย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่เกือบ 1.6 หมื่นคนและมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 100 คน ในกรณีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านราย

ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่วัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประมาณ 3.2 หมื่นรายในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 300 รายต่อวัน โดยในครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3.5 ล้านคนและผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 หมื่นราย

วิจัยกรุงศรีชี้ผลกระทบจากโอไมครอนต่อเศรษฐกิจไทย 3กรณี

มาตรการที่มีความเข้มงวดและความกังวลต่อการระบาดทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าออกไป โดยการระบาดของโอไมครอนจะกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ลดลงจากที่คาดไว้ก่อนหน้าการระบาดของโอไมครอน 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ

 

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2022 เป็นไตรมาสแรกของปี 2023