อย่างไรก็ตามมูลค่าการลงทุนกองทุนรวมตราสารทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 7.9 แสนล้านบาท สูงกว่าตราสารทุนไทยที่ 7.4 แสนล้านบาท โดยการลงทุนต่างประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงปลายปี 2020 และชะลอลงในช่วงกลางปี 2021 ในขณะที่กองทุนตราสารทุนไทยค่อนข้างทรงตัวและหรือหดตัวลงในบางช่วง(มอร์นิ่งสตาร์)
อย่างที่ทราบกองทุนต่างประเทศดูจะคึกคักเป็นพิเศษทั้งเรื่องของอัตราผลตอบแทนและค่านิยม สวนทางกับกองทุนหุ้นไทย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากนักลงทุนมีการลงทุนหุ้นไทยเต็มพอร์ตในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาแม้แต่กองประหยัดภาษีประเภท LTF-RMF ก็ยังลงทุนในหุ้นไทยจึงต้องการกระจายความเสี่ยงออกไป กอปรกับกองทุนSSFที่มาทดแทนสามารถลงทุนในกองทุนต่างประเทศได้จึงเป็นที่มาของกองทุนหุ้นไทยที่เซื่องซึมไปบ้างตามกระแส
“หุ้นไทยก็เหมือน”เสือทิ้งหาง”รอจังหวะขย้ำเพราะหุ้นไทยยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ไม่น้อยหน้ากองทุนต่างประเทศบางกองเช่นกัน ซึ่งในปีที่ผ่านมาภาพรวมหุ้นไทยมีอัตราผลตอบแทนฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกลาง-เล็กที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นหรือบางกองสูงเกือบ 60% ต่อปี”
5 อันดับกองทุน Equity Small/Mid-Cap ให้ผลตอบแทนสูงสุด ไม่รวมกองทุนที่มีนโยบายปันผล
**ถึงจะไปไม่ถึงดวงจันทร์ แต่ผลตอบแทนระดับนี้ก็ทำให้หลายคนสงสัยเช่นกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น? **
"ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์" ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิสบอกถึงเรื่องนี้ว่า หุ้นขนาดกลาง-เล็กในปีที่ผ่านมามีผลงานดีสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 20% ซึ่งหลักๆกองประเภทนี้โพกัสในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก และเป็นบริษัทที่มีศํกยภาพในการเติบโตสูงมาก ดังนั้นจะเป็นบริษัทที่มีมาร์เก็ตแคประมาณ 1,000 -10,000 ล้านบาทต้นๆ แต่เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีจากภาวะความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมาและในระยะ 2 ปีข้างหน้า
“ในปีที่ผ่านมาบริษัทประเภทนี้มีอัตราการเติบโตสูงมาก บางบริษัทเป็น 100% จึงเป็นที่มาว่าหุ้นที่กองทุนบางกองถือสามารถสร้างผลงานได้ดี ส่วนเทรนด์ในปีนี้หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ปรับตัวขึ้นมาเยอะมาก บางบริษัทขึ้น 200% บางบริษัท 500% บางบริษัท 600% ทำให้ปีนี้ต้องระมัดระวังหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมามากๆ และอนาคตการเติบโตชะลอตัวลงแล้วเหมือนกัน”
**แต่ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะดีไปหมด การที่กองทุนบางกองมีผลตอบแทนสูงมาจากการคัดเลือกหุ้น และกลยุทธ์ในการปรับพอร์ตการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กันด้วย**
**ประภาสบอกว่า** ผมยกตัวอย่างนักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จส่วนมากจะเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก และเมื่อผ่านไป 3-5 ปีจากลงทุน 5 ล้าน 10 ล้าน เป็น 100 ล้าน 200 ล้านจนเป็นระดับพันล้านเพราะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ได้ถูกตัวและจะโพกัสเฉพาะตัวไปเลย แต่กองทุนหุ้นของบลจ.ต้องกระจายความเสี่ยงในพอร์ต
อย่างของบลจ.ทาลิสจะมีหุ้นอยู่ประมาณ 30ตัว ซึ่งเมื่อดูจากผลตอบแทนที่ปรับตัวขึ้นมาในระดับสูงจะพบว่าหุ้นบางตัวปรับขึ้นมา 100% บ้างบางตัว 20-30%บ้างจะไม่เท่ากัน จึงจะสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงได้ เป็นที่มาว่าทำไมกองทุนกลุ่มนี้ผลตอบแทนจึงมีความแตกต่างกันมากไม่เหมือนกับกองทุนหุ้นขนาดใหญ่
ส่วนกลยุทธ์ในการบริหารกองทุนประเภทนี้ก็สำคัญต้องมีการปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอ หุ้นไหนที่ราคาเริ่มแพงมากๆ และคิดว่าอนาคตการเติบโตจะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญเราจะทำการขายออกไป เช่นบางบริษัทมีถืออยู่ 8% อาจเหลือ 4-5%
บางบริษัทมีน้อยก็อาจจะขายหมดเลยก็ได้ และเอาเงินเหล่านั้นไปลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าแทน คือโพกัสในหุ้นที่เติบโตสูง แต่หุ้นประเภทนี้จะหายากที่สามารถเติบโตอย่างต่อเนื่อง 3-5 ปี เราจึงปรับเปลี่ยนพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ล่วงหน้าไปอย่างน้อยสัก 1-2 ปี
“ต้องดูนโยบายการลงทุนของกองทุนประกอบว่านโยบายกองทุนเป็นอย่างไร คัดเลือกหุ้นและปรับพอร์ตแบบไหน ซึ่งต้องยอมรับว่าหลายบลจ.มีผลงานที่ดี บางแห่งก็มีผลงานดีต่อเนื่องบางปีก็อาจมีการปรับลดลงไปบ้างคงต้องพิจารณาพร้อมกันไปด้วยเพราะไม่ มีใครจะสามารถเลือกถูกได้เสมอไป มันเหมือนทีมฟุตบอลไม่มีใครจะเป็นที่ 1 ทุกปีมันต้องปรับแผนและยุทธ์ศาสตร์”
**ผลตอบแทนสูงปรี๊ดแบบนี้ แล้วปีนี้จะเป็นอย่างไร ลงทุนต่อได้ไหม? เป็นคำถามที่หลายคนอยากทราบ **
ประภาส บอกว่า ในปีที่ผ่านมาแม้บางกองทุนหุ้นกลาง-เล็กจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ แต่ในภาพรวมในช่วง 2ปีที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนดีกว่า SET50 ประมาณ 5% ต่อปี และในปีนี้หุ้นขนาดกลาง-เล็กเชื่อว่ายังมีหลายบริษัทปรับตัวได้ดีและมีหุ้นใหม่ๆทยอยเข้ามามีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี
ทำให้หุ้นขนาดกลาง-เล็กมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แต่ต้องมีการคัดเลือกอย่างรอบคอบมากขึ้น ซึ่งหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาเยอะๆมีโอกาสสูงที่จะถูกขายทำกำไร แต่โดยภาพรวมหุ้นขนาดกลาง-เล็กยังน่าจะเติบโตกว่าหุ้นขนาดใหญ่ในปีนี้
อย่างไรก็ตามถ้ามีหน้าสถานการณ์โควิด และท่องเที่ยวกลับมาอย่างมีนัยสำคัญปีหน้าถ้าสามารถเป็นปรกติได้จริงๆทั่วโลกถึงจะเป็นโอกาสของหุ้นใหญ่โดยเฉพาะที่หุ้นที่ราคาถูกและฟื้นตัวช้าที่จะสามารถเติบโตได้ดีกว่าหุ้นกลาง-เล็ก ตรงนั้นหุ้นเล็กอาจถูกขายทำกำไรได้
**“หุ้นขนาดกลาง-เล็กมีการปรับตัวเร็วมาก ที่ผ่านมาช่วงหุ้นปรับฐานสมมุติว่า 5% บางทีหลายตัวก็ลงแรง แต่บางตัวก็ไม่ลงเลยแตกต่างจากหุ้นใหญ่ที่เป็นไปตามตลาด ซึ่งจะแยกออกไปเป็นสองกลุ่มถ้าบอกว่าจะรอตอนปรับฐานก็มองได้ว่าปลอดภัยหน่อยค่อยเข้า แต่ถ้าช่วงที่ตลาดปรับฐานถ้าเลือกบริษัทได้ดีก็ไม่จำเป็นต้องรอ ในแง่ของหุ้นขนาดกลาง-เล็กการเลือกหุ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ากองหุ้นขนาดใหญ่มาก”**
นอกจากนี้ในอนาคตเชื่อว่าหุ้นในกลุ่มนี้น่าจะมีความน่าสนใจทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับนักลงทุน ซึ่งในช่วงทีผ่านมาบริษัทที่เข้าตลาดในแต่ละปีเยอะมาก และมีหลายบริษัทที่มีคุณภาพและหลายบริษัทก็เติบโตได้ดี
สมมุติเข้ามาสัก 20 บริษัทในอดีตอาจมีดีๆแค่ 2 บริษัท หรือประมาณ 10% แต่เดี๋ยวนี้ถ้ามีเข้ามา 20 บริษัทจะมีบริษัทดีๆ อาจะซัก 30% ซึ่งถ้าเราเลือกได้ถูกรีเทิร์นมันจะค่อนข้างเยอะ และหุ้นที่เข้าตลาดจะมีคุณภาพและหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าหุ้นที่เกี่ยวข้องกับไอที หุ้นเทคฯ ผมทำงานมา 20-30 ปีตอนนี้เห็นเลยว่าหุ้นที่เข้ามามีคุณภาพเยอะมาก
**สรุปแล้วหุ้นไทยยังมีโอกาสการลงทุนโดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกลาง-เล็กที่มีอัตราการเติบโตในระดับสูง ซึ่งต่อจากนี้คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ แต่นักลงทุนคงต้องเลือกด้วยเช่นกันว่ากองไหนมีนโยบายและความเสี่ยงเหมาะกับตนเองมากที่สุด**