"ช้อปดีมีคืน"ใช้สิทธิซื้อหุ้น บัญชีหุ้นประเภทไหนที่เข้าเงื่อนไข ?

03 ก.พ. 2565 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.พ. 2565 | 11:54 น.

“ช้อปดีมีคืน 2565"สำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้ลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 30,000 บาท ซึ่งมีสินค้ามากมายหลายรายการ รวมถึงการซื้อขายหุ้น ก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย บัญชีหุ้นประเภทไหน ? ที่เข้าเงื่อนไข และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง

ใกล้โค้งท้ายสำหรับมาตรการ"ช้อปดีมีคืน 2565 " ซึ่งเปิดให้สามารถนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าตามเงื่อนไข วงเงินไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง 15 กุมภาพันธ์ 2565 มาใช้ในการลดหย่อนภาษีปี 2565 ที่จะยื่นภาษีในปี 2566 ได้  สินค้าทีี่เข้าข่ายได้สิทธิดังกล่าว ยังรวมถึง "ค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น หรือ ค่าคอมฯ " 

 

   :  "ช้อปดีมีคืน" เงื่อนไข-ข้อควรระวัง-เหมาะกับใคร เช็คเลย

 

เรามาดูกันว่า "ซื้อขายหุ้น"บัญชีประเภทไหนที่เข้าเกณฑ์เงื่อนไข และต้องใช้หลักฐานอะไรบ้างที่ใช้ลดหย่อนภาษีการซื้อขาย คิดวิธีการลดหย่อนภาษีอย่างไร 

 

"ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล" ได้นำเนื้อหาจากบทความเรื่อง “ช้อปดีมีคืน” ซื้อขายหุ้น ก็ลดหย่อนได้ " โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งให้คำตอบเรื่องนี้ดังนี้

 

1.ทำไมการซื้อขายหุ้น ถึงสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

 

ก่อนอื่นต้องมาย้อนกันสักเล็กน้อย ว่าสินค้าหรือบริการประเภทใด สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งโครงการดังกล่าว มีสินค้าอยู่ 3 ประเภท ซึ่งเข้าเงื่อนไข ได้แก่

 

1.สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

2.สินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนแล้ว

3.หนังสือรูปแบบกระดาษ / E-book

 

โดยค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้น หรือค่าคอมฯ มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงอยู่ในสินค้าประเภทที่ 1 ทำให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

 

2.บัญชีหุ้นประเภทไหนที่เข้าเงื่อนไข

 

บัญชีหุ้นได้ทั้ง 3 ประเภทเข้าเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” ทั้งหมด
 

มาดูกันว่า บัญชีหุ้นทั้ง 3 ประเภทมีอะไรบ้าง

 

1.บัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance, Cash Deposit)

บัญชีประเภทนี้ เราจะซื้อหุ้นได้ก็ต่อเมื่อโอนเงินเข้าบัญชีหุ้นที่เราเปิดไว้กับโบรกเกอร์นั้น ถึงจะเริ่มต้นซื้อขายหุ้นได้ โดยเราโอนเข้าไปเท่าไหร่ ก็สามารถซื้อได้เท่านั้น เหมาะสำหรับมือใหม่ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุน

 

2.บัญชีเงินสด (Cash Account)

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง” บัญชีนี้ตอบโจทย์การลงทุนสไตล์ดังกล่าว ด้วยการวางเงินตามที่โบรกเกอร์กำหนดเพียงบางส่วนของมูลค่าเต็ม และวางเงินส่วนที่เหลือในอีก 2 วันทำการ (T+2)

 

3.บัญชีมาร์จิน (Credit Balance, Margin Account)

บัญชี 2 ประเภทต้องวางเงินเต็มทั้งคู่ แต่แตกต่างกันที่วันที่ต้องวางจำนวนเงินเต็ม แต่บัญชีมาร์จินนั้น เป็นการวางเงินเราเพียงบางส่วนและส่วนที่เหลือ จะเป็นการกู้จากโบรกเกอร์ ซึ่งจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ด้วย

 

3.ใช้รายการซื้อขายก่อนหน้าได้หรือไม่ และใช้หลักฐานอะไรใช้ลดหย่อนบ้าง

 

จากเงื่อนไขของ “ช้อปดีมีคืน” ที่สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 มกราคม  – 15 กุมภาพันธ์  2565 นั้น ทำให้รายการซื้อขายก่อนหน้าวันที่ 1 มกราคม 2565 นั้นไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

 

สำหรับหลักฐานประกอบการใช้สิทธิลดหย่อน คือ ใบยืนยันการซื้อขายที่โบรกเกอร์ออก
 

การคำนวณการลดหย่อนภาษีจากโครงการ คำนวณอย่างไร และค่าคอมฯ หุ้นต้องรวมค่าอะไรบ้าง

 

ก่อนจะนำค่าคอมฯ ไปลดหย่อนภาษี เรามาดูวิธีการคำนวณภาษีบุคคลธรรมดากันสักนิด

 

การลดหย่อนภาษีของโครงการช้อปดีมีคืน ถึงแม้เราจะใช้สิทธิเต็มเพดาน 30,000 บาท แต่เราจะต้องดู “รายได้สุทธิ” ซึ่งจะเป็นตัวกำหนด “อัตราภาษี” ที่เราต้องเสียด้วย โดยสามารถดูได้จากตารางด้านล่าง

 

\"ช้อปดีมีคืน\"ใช้สิทธิซื้อหุ้น บัญชีหุ้นประเภทไหนที่เข้าเงื่อนไข ?

 

สมมติ เรามีเงินได้สุทธิ 350,000 บาท อยู่ช่วงฐานภาษีที่ 300,001 – 500,000 บาท เสียภาษีในอัตรา 10% ซึ่งเงินคืนที่ได้สูงสุด เราจะคิดจาก 30,000 (วงเงินลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืน) x 10% (อัตราภาษี) = 3,000 บาท  

ส่วนจำนวนค่าคอมฯ เราจะใช้ยอดเงินรวมของค่าคอมฯ ค่าธรรมเนียม และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการซื้อขายหุ้น

 

สำหรับใครที่ลงทุนในหุ้น หรือกำลังศึกษาในหุ้น สามารถนำค่าคอมฯ มาร่วมคำนวณในการใช้สิทธิลดหย่อนช้อปดีมีคืนได้ แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมดูเงินได้สุทธิ และศึกษาเรื่องการลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจซื้อขาย จะช่วยให้ได้ทั้งผลตอบแทนและลดหย่อนภาษีด้วย

 

ที่มา :  ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย