ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปิดที่ 34,297.73 จุด ลดลง 66.77 จุด หรือ -0.19% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,356.45 จุด ลดลง 53.68 จุด หรือ -1.22% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,539.30 จุด ลดลง 315.83 จุด หรือ -2.28%
บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังคงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกเกี่ยวกับยูเครน โดยกองทัพสหรัฐได้สั่งการให้ทหารประมาณ 8,500 นาย เตรียมพร้อมเคลื่อนกำลังพลไปยังยุโรปในเร็ว ๆ นี้หากจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับบรรดาพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่เตรียมเผชิญหน้ากับกองทัพรัสเซียนับ 100,000 รายที่สั่งสมกำลังตามแนวชายแดนติดกับยูเครน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองมองว่า แม้การตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้แปลว่าสหรัฐจะสนับสนุนยูเครนซึ่งไม่ใช่ประเทศสมาชิกของนาโต แต่ก็เป็นการยืนยันว่านาโตเตรียมพร้อมรับมือกับรัสเซีย เนื่องจากเชื่อว่ารัสเซียมีแผนบุกยูเครนเช่นเดียวกับที่ได้ใช้กำลังทหารผนวกคาบสมุทรไครเมียในปี 2557
นอกจากนี้ตลาดยังถูกกดดันจากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ โดยระบุถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19, ภาวะคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น
ทั้งนี้ IMF คาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 4.4% ในปี 2565 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.9% พร้อมกับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 4.0% ในปีนี้ ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.2% โดยได้รับผลกระทบจากการที่เฟดถอนมาตรการกระตุ้นทางการเงิน
อย่างไรก็ดี ดัชนีดาวโจนส์สามารถไต่ขึ้นจากระดับต่ำสุดในระหว่างวัน เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังจากราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นเกือบ 3% และเข้าซื้อหุ้นกลุ่มธนาคารหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้
นักลงทุนจับตาผลการประชุมเฟดซึ่งจะมีการแถลงในวันนี้ตามเวลาสหรัฐ หรือในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 27ม.ค. 65 ตามเวลาไทย นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้แก่ ไมโครซอฟท์, เทสลา และแอปเปิล
สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยล่าสุดเมื่อคืนนี้ เอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ เปิดเผยผลสำรวจบ่งชี้ว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐพุ่งขึ้น 18.8% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยราคาบ้านยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ของผู้ซื้อบ้าน และสต็อกบ้านที่ตึงตัว รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ระดับต่ำ
ขณะที่ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 113.8 ในเดือนม.ค. จากระดับ 115.2 ในเดือนธ.ค. โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และการแพร่ระบาดของโควิด-19