นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานเสวนา The BIG ISSUE 2020 “อนาคตคริปโต อนาคตไทยแลนด์” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า ในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ได้มีมาตั้งแต่ปี 2561 ตั้งแต่มีพระราชบัญญัติสินทรัพย์ดิจิทัล และตามมาด้วย พรก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 และประมวลรัษฎากร ที่ออกมาในปีเดียวกัน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงการคลังในขณะนั้นได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องของฟินเทค โดยเฉพาะพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี ธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลในแนวทางปฏิบัติเพื่อดูแลธุรกิจด้านนี้ รวมถึงผู้บริโภค
ทั้งนี้ในหลายประเทศมีแนวนโยบายในการกำกับดูแลของตัวเอง โดยมีความชัดเจนและครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ในกรณีของไทยก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งในปี 2561 กฎหมายได้กำหนดให้ กลต.เข้ามาเป็นผู้กำกับดูแล และกระทรวงการคลังได้มีการติดตามสถานการณ์และพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อออกแนวทางในการเข้าไปดูแลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและการประกอบธุรกิจ แต่สิ่งที่สำคัญ คือการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยยึดแนวทางการส่งเสริมแบบสมดุล
ขณะที่ประเด็นการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งได้มีการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเงินได้นิติบุคคลมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าในช่วงเริ่มต้นการพัฒนายังมีไม่มาก และพึ่งมาได้รับความนิยมในช่วงปีที่ผ่านมา เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย โดยจะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องของศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange รวมถึงโบรกเกอร์ต่างๆ และอีกส่วนคือ เรื่องของการระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering)
ซึ่งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กลต. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 เรื่องจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทย และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในทางปฎิบัติที่เกี่ยวกับการชำระภาษีและข้อเสนอต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย สร้างความเป็นธรรม และไม่สร้างความยุ่งยาก หรือเป็นภาระให้กับประชาชนและผู้มีเงินได้
นายอาคม กล่าวอีกว่า ที่มาผ่าน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง และพบว่าต้องการให้มีการส่งเสริม ซึ่งแนวนโยบายในด้านภาษีจะมี 2 แนวทาง คือ แนวทางการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรม ผ่านการลดหย่อน การยกเว้น แต่ก็จะมีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน และอีกแนวทาง คือ มาตรการภาษีที่ไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ยังอยู่ระหว่างการหารือ และจะได้ข้อสรุปจากกรมสรรพากรภายในเดือนมกราคมนี้
พร้อมย้ำว่ากระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจ โดยไม่ให้กระทบระบบการเงินในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามการลงทุน และการแลกเปลี่ยนในสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอดเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการเติบโต และเป็นรากฐานของเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานที่สำคัญที่ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงในอนาคต
“แนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มีการพิจารณาแนวทางและแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้วมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบาย การกำกับดูแล การทำธุรกิจ ซึ่งจะต้องคำนึกถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจ โดยยึดแนวทางในการเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครอง หรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมทางการเงิน”
นายอาคม กล่าวด้วยว่ารัฐบาลได้มีเป้าหมายในการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งสินทรัพย์ดิจิทัลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หากมีการส่งผ่านทุนไปยังเศรษฐกิจ การสร้างโรงงาน หรืออุตสาหกรรม รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ