เหตุผลที่คริปโตฯ ‘เดียม’ (Diem) ของเฟซบุ๊ก ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

26 ม.ค. 2565 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ม.ค. 2565 | 16:13 น.

ภายใต้แรงกดดันจากหน่วยงานภาครัฐ โครงการก่อตั้งสกุลเงินดิจิทัลของเฟซบุ๊ก (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “เมทา”) ที่ประกาศโครงการครั้งแรกภายใต้ชื่อ “ลิบรา” (Libra) ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น "เดียม” (Diem) ดูเหมือนจะพบทางตัน ไปไม่ถึงฝันเสียแล้ว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานวันนี้ (26 ม.ค.) อ้างอิงแหล่งข่าววงในระบุว่า Diem Association หรือ สมาคมเดียม ซึ่งเป็นสมาคมที่ริเริ่มก่อตั้ง สกุลเงินดิจิทัล Diem และมี เฟซบุ๊ก (หรือชื่อใหม่คือ Meta) เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง กำลังพิจารณาขายทรัพย์สินทางปัญญาของตน เพื่อคืนทุนให้กับสมาชิกนักลงทุนทุกคน

 

แหล่งข่าวระบุว่าตอนนี้สมาคมเดียม (Diem Association) กำลังหารือกับวาณิชธนกิจเกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการขายทรัพย์สินทางปัญญาและหาที่ทำงานใหม่หรือโครงการใหม่ให้แก่ทีมวิศวกรที่พัฒนาเทคโนโลยี และถอนทุนที่หลงเหลือจากการร่วมทุนออกมา

 

ย้อนกลับไปในปี 2019 เฟซบุ๊กได้โพสต์ลงในเพจของบริษัท เปิดเผยถึงแนวคิดเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลที่มีเสถียรภาพ หรือ สเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ที่ผูกติดกับค่าเงินดอลลาร์ ของตัวเองออกมาเป็นครั้งแรก โดยมุ่งเป้าไปที่การปฏิวัติบริการทางการเงินทั่วโลกเพื่อทำให้ผู้คนสามารถโอนเงินระหว่างกันได้แบบไร้พรมแดน ซึ่งในช่วงเวลาที่เปิดตัวโครงการ เฟซบุ๊กได้จับมือกับอีกหลายบริษัทที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรโครงการโดยในระยะแรกเริ่มเปิดตัวนั้นเป็นที่รู้จักกันในนามโครงการ “ลิบรา” (Libra) ต่อมาเพิ่งจะเปลี่ยนเป็นชื่อ “เดียม” (Diem)ในภายหลัง   

อย่างไรก็ตามกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะปกป้องโครงการจากการตรวจสอบด้านกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินในหลายประเทศทั่วโลก

มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก

นายมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กและผู้ริเริ่มโครงการดังกล่าว ถูกเชิญไปชี้แจงต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐ และเนื่องจากถูกดดันอย่างหนักว่าโครงการของเขาขัดต่อกฎระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงิน หุ้นส่วนบางรายที่เป็นพันธมิตรโครงการก็แยกตัวออกไป และทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น Diem แทน Libra ตั้งแต่นั้นมา

 

หลังจากนั้นความกระตือรือร้นที่จะผลักดันโครงการก็เริ่มถดถอยลง ไม่เพียงเท่านั้น นายเดวิด มาร์คัส หัวหอกสำคัญที่ก่อตั้งโครงการนี้ ยังเพิ่งลาออกจาก Meta ไปอีกเมื่อปีที่ผ่านมา  แม้ทางสมาคมเดียมจะยังคงพยายามไปทำความตกลงกับบริษัท ซิลเวอร์เกท แคปปิตอล คอร์ป. (Silvergate Capital Corp.) พันธมิตรด้านการเงินเพื่อผลักดันการออกเงินดิจิทัล “เดียม” ออกมาให้สำเร็จ แต่นั่นก็ดูเหมือนจะเป็นความพยายามสุดท้ายที่ไร้ผล เพราะถูกสกัดกั้นโดยธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อย่างหนัก

ในเดือนพฤษภาคม 2564 ธนาคารซิลเวอร์เกทซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ซิลเวอร์เกท เตรียมออกเงินดิจิทัลเดียม สเตเบิลคอยน์ (Diem USD Stablecoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลประเภทหนึ่งที่ตรึงราคาอยู่กับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปกติแล้วจะใช้ในการซื้อและขายคริปโตอื่น ๆ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีความคืบหน้าใด ๆ หลังจากมีการพูดคุยประสานงานกันเป็นเวลานานระหว่างฝั่งสมาคมเดียมและหน่วยงานกำกับดูแล

เหตุผลที่คริปโตฯ ‘เดียม’ (Diem) ของเฟซบุ๊ก ไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ในที่สุดเฟดก็แจ้งซิลเวอร์เกทเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้วว่า เฟดไม่สบายใจกับแผนนี้ และไม่สามารถรับรองกับธนาคาร(ซิลเวอร์เกท)ได้ว่าจะอนุญาตให้ทำธุรกรรมดังกล่าวได้ ซึ่งเมื่อไม่มีสัญญาณไฟเขียวจากหน่วยงานกำกับดูแลอย่างเฟด  ซิลเวอร์เกทก็ไม่สามารถออกสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยความมั่นใจว่าเฟดจะไม่มาปราบปรามในภายหลัง  ท้ายที่สุดทางสมาคมและพันธมิตรจึงไม่สามารถออกเหรียญ Diem ได้

 

เมื่อสื่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ โฆษกของเฟดปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาที่ผ่านมา ขณะที่สมาคมเดียมเองก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเช่นกัน เช่นเดียวกับเมทา (หรือเฟซบุ๊ก) ที่เป็นต้นคิดโครงการ

 

ข้อมูลอ้างอิง

Mark Zuckerberg’s Stablecoin Ambitions Unravel With Diem Sale Talks