“คริปโต” ยังประเด็นร้อนต่อเนื่อง โดยนอกจากประเด็นภาษีคริปโต ที่คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ แล้วยังมีประเด็นล่าสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง รวมกันยกร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัล มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
ในเวทีเสวนาออนไลน์ “อนาคตคริปโต อนาคตไทยแลนด์” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และฐานดิจิทัล ภาคเอกชนได้ร่วมสะท้อนมุมมองต่อมาตรการต่างที่ภาครัฐออกมาเกี่ยวกับคริปโต ที่น่าสนใจ
แฮปปี้จ่ายภาษีตามทรานเซ็กชัน
นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่าภายหลังจากการหารือกรมสรรพากร ในปีภาษีนี้คงไม่สามารถแก้กฎหมายได้ทัน ซึ่งผู้ที่มีรายได้จากคริปโตคงต้องปฎิบัติตามกฎหมายไปก่อน แต่ภายหลังจากนี้จะมีการหารือกับกรมสรรพากร เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมในการจัดเก็บภาษีคริปโต อย่างไรก็ตามในทางปฎิบัติ การจัดเก็บภาษีคริปโต แบบหัก ณ ที่จ่าย ไม่สามารถทำได้ ขณะที่รูปแบบการเก็บภาษีตาม Capital Gain โดยมีกำไรแล้วหักภาษีนั้น คำถามคือถ้าขาดทุนจะหักลบกันอย่างไร แนวทางที่คิดว่าทำได้ คือ หากคิดแบบชาวบ้านต้นปีรายได้เท่าไร ปลายปีรายได้เพิ่มเท่าไร ความมั่งคั่ง หรือ Wealth เพิ่มขึ้นเท่าไร ก็คิดตามภาษีตามนั้น
อย่างไรก็ตามในอนาคตทุกคนแฮปปี้กับการจัดเก็บภาษีตามทรานเซ็กชัน แต่ต้องมาพูดคุยถึงเปอร์เซ็นต์ที่นักลงทุนรับได้ ฝั่งเอ็กซ์เชนจ์ก็ไม่อยากขึ้นค่าธรรมเนียม เพราะผลักลูกค้าหนีไปต่างประเทศ สิ่งที่สมาคมฯ ได้มีการหารือกับเอ็กซ์เชนจ์คือ ขอให้อดทนเพื่ออนาคต โดยหากสามารถดึงโวลุ่มจากต่างประเทศ ก็มีค่าธรรมเนียมมากขึ้น
นายศุภกฤษฎ์ กล่าวต่อไปอีกว่าในแง่ของการพัฒนาอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในมุมมองของสมาคมนั้นมองว่าการเริ่มเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงที่อุตสาหกรรมกำลังเติบโตนั้นเป็นเรื่องที่เร็วเกินไป ภาครัฐควรเปิดให้อุตสาหกรรมมีการเติบโตอย่างเต็มที่ก่อนแล้วค่อยเก็บ
ร.พ.ธนบุรีทบทวนลงทุน
นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่าคริปโตเคอเรนซี่ในประเทศไทยจะพบกำแพง กฏหมายจำนวนมาก เช่น หากต้องการลงทุนใน Digital asset ก็จะเจอกับภาษี VIP ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าเป็น security หรือ community และกลายเป็นข้อจำกัดขึ้นมา ทำให้ THG ต้องกลับมาทบทวนและศึกษาอย่างหนักว่าควรจะไปย้ายการลงทุนไปที่สิงคโปร์แทนดีหรือไม่ และกลายเป็นว่าแทนที่จะมองประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินดิจิทัลยุคใหม่อาจต้องไปมองสิงคโปร์แทน
ดับฝัน ‘เอสเอ็มอีแข่งโลกใหม่
นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพาณิชย์และการลงทุน บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทไม่คิดคัดค้าน และพร้อมจะปฎิบัติตามกฎระเบียบเข้ม ของ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่รัฐกำลังเดินหน้าอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามการที่ ธปท.และสำนักงาน ก.ล.ต. มีประกาศสั่งห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการ เปิดรับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต เป็นสื่อกลางการชำระเงินนั้น เท่ากับเป็นการตัดโอกาสแข่งขันใหม่ๆ ของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ระดับรากหญ้าของไทย เช่น กลุ่มเอสเอ็มอี, แท็กซี่, พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ใช้บริการกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ซึ่งรองรับ ทรูมันนี่วอลเล็ต, แรบบิทไลน์เพย์, ช้อปปี้เพย์ และสบายมันนี่ มีมากถึง 7 หมื่นราย โดยผู้ค้าต่างมีความหวังต่อโลกการเงินยุคใหม่อย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบัน มีแนวโน้มจะใช้เงินดิจิทัล หรือ คริปโต ชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดในอนาคตมากขึ้น
“ขวาง” พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะที่นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่าภาครัฐควรมององค์รวม เศรษฐกิจยุคใหม่ไทยยังมีโอกาสในการแข่งขันอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชน เงินดิจิทัล ซึ่งมีคนไทยรุ่นใหม่หลายคนเข้าไปศึกษาหาโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่หลายรายที่กำลังเติบโต ควรสนับสนุนให้เกิดคลัสเตอร์ที่สร้างองค์ความรู้ พัฒนานิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตขึ้นมาจนแข็งแรงก่อนค่อยไปเก็บภาษี หรือกำกับให้ไปสู่ทิศทางที่ต้องการก็ยังไม่สาย กฎหมายต้องมีไว้เพื่อพัฒนาสนับสนุน ไม่ใช่เพียงกำกับควบคุม กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลฯที่ออกมาบังคับใช้เมื่อ 2 ปีก่อน เป็นกฎหมายที่เกิดจากความกลัว และมุ่งมิติการกำกับควบคุม มากกว่ามิติด้านการพัฒนาและเปิดโอกาสให้เกิดการเติบโตเป็นนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง
อัดผู้คุมกฎขาดช้อมูลอนาคตศาสตร์
พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการ และนักธุรกิจที่จดทะเบียนบริษัทด้านบล็อกเชนในต่างประเทศ กฎหมายหรือมาตรการควบคุมที่รัฐออกมาเรื่อง ภาษีคริปโต ที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุม ตรงนี้ผู้ออกกฎควรศึกษาดูก่อนว่า สามารถกำกับควบคุมได้จริงหรือไม่ เพราะในอนาคตเด็กในยุคนี้ สามารถเรียนรู้และซื้อบิตคอยน์ หรือคริปโตได้เอง โดยไม่สามารถควบคุมได้ เพราะเขาสามารถเลือกทุกอย่างได้อิสระ
สำหรับ บล็อกเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง ได้ทำแพลตฟอร์ม ที่ดูแลเรื่องอาชญากรรม ซึ่งจดทะเบียนในต่างประเทศ นั่นเพราะ มองว่า แต่คนทำกฎในไทย ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดข้อมูลด้านอนาคตศาสตร์ ที่เพียงพอ การออกกฎควบคุมดูแลคริปโต คนกำหนดนโยบายต้องเข้าใจธรรมชาติของดิสรัปทีฟ เทคโนโลยี ซึ่งจริงๆ เทคโนโลยี สามารถต่อต้านทุจริตได้ ตรงนี้ควรได้รับการต่อยอด