ทองคำCOMEX ปิดร่วง 8.4 ดอลล์ ดอกเบี้ยขาขึ้นกดดันราคา

29 ม.ค. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ม.ค. 2565 | 07:00 น.

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงในวันศุกร์ (28 ม.ค.) โดยถูกกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 8.4 ดอลลาร์ หรือ 0.47% ปิดที่ 1,786.6 ดอลลาร์/ออนซ์ และปรับตัวลง 2.5% ในรอบสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดในวันที่ 26 พ.ย.
         

  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 37.5 เซนต์ หรือ 1.65% ปิดที่ 22.301 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 15.2 ดอลลาร์ หรือ 1.49% ปิดที่ 1,006.6 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 8.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 2,375.30 ดอลลาร์/ออนซ์
             

สัญญาทองคำถูกกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งความกังวลที่ว่าเฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
 

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวขึ้น 0.04% สู่ระดับ 97.2830 ในวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้สัญญาทองคำมีราคาแพงขึ้นและไม่น่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ
         

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในวันศุกร์ยังคงเป็นแรงหนุนทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ พุ่งขึ้น 4.9% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย.2526 หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนพ.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% เช่นกันในเดือนพ.ย.
 

ดัชนี PCE ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.8% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2525 หลังจากดีดตัวขึ้น 5.7% ในเดือนพ.ย. และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนธ.ค. จากระดับ 0.6% ในเดือนพ.ย.        

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 67.2 ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2554 จากระดับ 70.6 ในเดือนธ.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 68.5 โดยดัชนีความเชื่อมั่นได้รับผลกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้น