จับตาแบงก์เคาะจ่ายปันผลปี 64 ชูยีลด์ 4-6%

01 ก.พ. 2565 | 08:33 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 17:35 น.

จับตาแบงก์เคาะจ่ายปันผลปี 64 ผลตอบแทน 4-6% หลังแบงก์ไทยพาณิชย์ ( SCB ) ประกาศจ่ายหุ้นละ 4.06 บาท โดยเหลือจ่ายอีกหุ้นละ 2.63บาท ในวันที่ 22 เม.ย.นี้ ค่ายบล.โนมูระ อัพราคาเป้าหมายชูหุ้น SCB , KBANK ,KKP ค่ายบล.กรุงศรี เลือก KBANK หุ้นเด่น

หุ้นกลุ่มแบงก์ประกาศผลดำเนินงานรอบปี 2564 ที่ผ่านมา โดย10 แบงก์ไทย มีกำไรสุทธิในปี 64 รวม 182,939 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ถึง 32.27%   หลังจากนี้จะเข้าสู่เทศกาลจ่ายปันผลของรอบผลประกอบการปี 2564

 

ล่าสุด บอร์ด บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานปี 2564 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 4.06 บาท ใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 13,801 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิประจำปี 2564 โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 15 ก.พ.2565 หลังขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) และกำหนดวันจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 เม.ย.2565  

 

ทั้งนี้ ธนาคารได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานปี 2564 ไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2564 ให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 1.43 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 4,861 ล้านบาท ดังนั้นคงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งนี้ อีกหุ้นละ 2.63 บาท ในวันที่ 22 เม.ย. 2565 เป็นจำนวนประมาณ 8,940 ล้านบาท

 

สำหรับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลโดดเด่นและให้อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) สูงระดับ 4% - 6% อัพได้แก่ TISCO ,KKP, SCB, BBL,KTB เป็นต้น 

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)โนมูระ พัฒนสิน (CNS)  ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เข้าใกล้เทศกาลจ่ายปันผลประจำปี 2564 และงวดครึ่งปีหลัง 2564 ในช่วงเดือน มี.ค.- พ.ค. 2565  ทีมกลยุทธ์ CNS จึงรวบรวมหุ้นที่คาดจะจ่ายปันผลช่วงครึ่งหลังปี 2564 จากคาดการณ์เพื่อนำมาคัดสรรหุ้นปันผลเด่น 

 


 

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะ 1-2 เดือน แนะนำ High Yield & Earnings Growth โดยได้ทำการคัดกรองหุ้นปันผลที่เด่นครึ่งหลังปี 2564  จาก 1.หุ้นที่คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลครึ่งหลังสูงกว่า 2.3% และ 2.เป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และอยู่ในจุดเหมาะสมในการเข้าซื้อได้แก่ กลุ่มหุ้น Big-Mid Cap : TISCO, TTB, LH, KKP, BBL และกลุ่มหุ้น Small Cap : MC, AP, SC, NER, SAT, BCP, TVO,ICHI, THANI

 

สำหรับหุ้น บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO คงคำแนะนำซื้อด้วยราคาเป้าหมาย 115.0 บาท นโยบายคุมเข้มด้านการปล่อยสินเชื่อใหม่ทุกประเภท และการตั้งสำรองล่วงหน้าในระดับสูงในช่วงที่ปี 2564 ที่ผ่านมา ช่วยให้ TISCO เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีจุดเด่นด้านความแข็งแกร่งในคุณภาพสินทรัพย์ ประกอบกับคาด Dividend Per Share หรือ DPS ปี 2564 ที่ 6.8 บาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงราว 6.9% อย่างไรก็ตามด้วยแนวโน้มกำไรที่เติบโตชะลอลง และการกลับไป Gain market share (หลังจากเสียไปเยอะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา) ยังคงต้องใช้เวลา

 

ส่วนบมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP ปรับคำแนะนำเป็นซื้อ (เดิม Trading Buy) และปรับราคาเป้าหมายปี 2565 เป็น 80.00 บาท (เดิม 60.0) อิง PBV ที่ 1.3x ใกล้เคียง + 0.5SD ของค่าเฉลี่ย ในอดีต และเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับในช่วงปี 2561--2562 เรามองว่าเหมาะสมเนื่องจากไม่มี overhang จากผลขาดทุนรถยึด assetquality ที่ไม่น่ากังวลเพราะตั้งสำรองล่วงหน้าไปมากแล้ว รวมถึงทิศทางรายได้ทั้ง NII และ Non-NIเที่ยังมี momentum ดีต่อเนื่อง รวมถึงคาดระดับ ROE ปี 2565 ขยับขึ้นเป็น 13.6% ใกล้เคียงกับ ROE ปี 20 18-19 ที่ราว 14.0% นอกจากนี้คาดเงินปันผลงวดปี 2564 ที่ 2.8 บาท (1H21 จ่ายแล้ว 0.75 บาท) คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 4.2%
 

 

ด้านบมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB คงคำแนะนำซื้อปรับราคาเป้าหมายปี 2565 เป็น 155.0 บาท (เดิม 150.0) ยังคงเลือกเป็น Top pick ของกลุ่มธนาคาร (คู่กับ KBANK) นอกเหนือจากในระยะสั้นที่ได้แรงหนุนจากสำรองที่ลดลง เรามองว่าในระยะกลางสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อยจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนการเป็นผู้ริเริ่มปรับเปลี่ยน
landscape ธุรกิจธนาคารให้มีความคล่องตัว และแผนรุกสินเชื่อ ในsegment ใหม่ของ SCB จะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาว

 

อีกทั้ง SCB อาจมีปันผลพิเศษราว 2-6 บาท (yield 1.8%-5.5%) หลังปรับโครงสร้างเป็น SCBX เสร็จสิ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2565


บมจ.ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL คงคำแนะนำซื้อเป้าหมายปี 2565 ที่ 165.0 บาท มองว่า BBL เป็นธนาคารที่มีคุณภาพสินทรัพย์แกร่งสุดในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และมีความเป็นผู้นำด้านสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งจะได้อานิสงส์โดยตรงจากการเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้คาดหวัง BBL ต่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ digital banking มากขึ้น เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวกับธนาคารคู่แข่งอย่าง SCB และ KBANK ที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนา IT investment อย่างมาก ทั้งนี้ BBL จะจัดประชุมนักวิเคราะห์ในวันที่ 3 ก.พ.2565

 

ขณะที่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK คงคำแนะนำซื้อปรับราคาเป้าหมายปี 2565 เป็น 180.0 บาท (เดิม 175.0 บาท) เรายังคงเลือก KBANKเป็น Top pick (คู่กับ SCB) ชอบ KBANK เพราะการเติบโตในปี 2565 มาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรองควบคู่กับการเติบโตในฝั่งสินเชื่อ และค่าธรรมเนียม มองว่าธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความน่าเชื่อถืออย่าง KBANK จะได้อานิสงส์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัว นอกจากนี้ KBANK ถือเป็นผู้นำด้านการพัฒนา Digital banking เพื่อต่อยอดธุรกิจธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ digital ป้องกันการdisrupt ต่อ Core business รวมถึงแสวงหาช่องทางการเติบโตใหม่ต่อเนื่อง

 

ด้านบมจ.ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB คงคำแนะนำ Neutral และยังคงเป้าหมายปี 2565 ที่ 13.1 บาท มองว่าราคาหุ้น ปัจจุบันได้สะท้อนความน่าสนใจของ KTB จากการเติบโตของสินเชื่อภาครัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำต่อการตกชั้นเป็น NPLและคาดหวังต่อการพัฒนา Digital banking ร่วมกับเอคเซนเชอร์ โซลูชั่นส์ (ACN) ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติ มีจุดเด่นด้าน IT support และการ
พัฒนา Application เพื่อพัฒนาต่อยอดApplication เป้าตัง ให้มีความสามารถมากขึ้น เสริมประสิทธิภาพงานภาครัฐ อย่างไรก็ตามคาดว่าการพัฒนาธนาคารสู่ Tech company ของ KTB อาจยังต้องใช้เวลา

 

ส่วนบมจ.ธนาคารทหารไทยธนชาต  หรือ TTB คงคำแนะนำ Reduce ปรับราคาเป้าหมายปี 2565 เป็น 1.30 บาท (เดิม 1.10 บาท) ในเชิงปัจจัยพื้นฐานมองว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาซื้อขายที่ 0.7x PBV ใกล้เคียง -1.0SD ของค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 0. 7x PBV, -1.0SD ย่อมสะท้อนความคาดหวังเชิงบวกต่อแนวโน้มกำไรปี 2565 ไปแล้วประกอบกับคาด ROE ปี 2565 ของ TTB อยู่ที่ 6.0% เทียบกับค่าเฉลี่ยกลุ่มธนาคารที่ 7.6% จึงเป็นข้อจำกัดต่อการให้ Premium เชิง Valuation สำหรับ TTB

 

ทั้งนี้ CNS คาดกำไรกลุ่มธนาคารในปี 2565 อยู่ที่ 1.61 แสนล้านบาท (โต11% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) การเติบโตของรายได้ดอกเบี้ย NII มีบทบาทต่อการเติบโตของกำไรมากขึ้น ควบคู่กับค่าใช้จ่ายสำรอง/Credit cost ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่ลดลง นอกจากนี้คาดจะเห็นธนาคารรุกสินเชื่อ High yield มากขึ้นเพื่อเติบโต ใน Segment ใหม่ และเพิ่ม yield ยังคงน้ำหนักการลงทุน Bullish กลุ่มธนาคาร

 

โดยยังคงเลือก SCB, KBANK เป็น Top pick จากแนวโน้มกำไรเติบโตเด่นสุดในกลุ่มธนาคารขนาด ใหญ่ เพราะในระยะสั้น-กลางได้แรงหนุนจากการลด Credit cost และได้ประโยชน์จากสินเชื่อและรายได้ค่าธรรมเนียมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงแผนการรุกสินเชื่อ High yield อีกทั้ง SCB, KBANK เป็น 2 ธนาคารที่เห็นการปรับตัวด้าน Digital banking ชัดเจนที่สุดในกลุ่มฯ ซึ่งจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะยาว

 

ด้านบล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มธนาคารในระยะกลาง – ยาว มองว่าธนาคารมีเงินกองทุนและการกันสำรองมากพอที่จะรองรับผลกระทบของการระบาดของโควิดระลอกใหม่ และธนาคารยังได้แรงหนุนจากสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นในปี 2565 

 

อย่างไรก็ตามราคาหุ้นกลุ่มธนาคารได้ปรับตัวขึ้นเร็วในช่วง 3-6 เดือนที่ผ่านมาทำให้อัพไซด์  valuation ของธนาคารจำกัดในระยะสั้น ขณะที่เราคาดกำไรรวมของกลุ่มในปี 2565 จะเติบโตลดลงเหลือ 11% โดยเฉพาะหลังไม่มีฐานที่ต่ำจากการตั้งสำรองอย่างในปี 2564

 

บล.กรุงศรี ยังคงคำแนะนำของกลุ่มธนาคารลง จากมากกว่าตลาด เป็น"กลาง" โดยเลือก KBANK (ให้ราคาเป้าหมาย 166.00 บาท  และ TTB (ราคาเป้าหมายที่ 1.60 บาท )  เป็นหุ้นเด่นกำไรของกลุ่มธนาคาร

 

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า  ยังคงมุมมองการลงทุนปีนี้เป็นปีที่ท้าทายโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและนโยบายการเงินของเฟดที่จะเริ่มเข้มงวดขึ้น ซึ่ง บล.ทิสโก้มองหุ้นที่คาดงบไตรมาส 4/2564 จะออกมาดี และหุ้นปันผลสูงที่กำไรปีนี้ยังเติบโตได้เป็นตัวเลือกการลงทุนที่เด่นที่สุดในเดือนนี้ อิงจากสถิติย้อนหลัง 7 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องจนถึงเดือนมีนาคม ผลตอบแทนรวมของ SETHD Index ซึ่งตัวแทนของหุ้นที่เงินปันผลดีสม่ำเสมอ จะดีกว่าผลตอบแทนรวมของ SET Index เฉลี่ย +2.1% และ +0.4% ตามลำดับ 

 

โดยหุ้นเด่นในเดือนกุมภาพันธ์ ที่บล.ทิสโก้แนะนำ มีหุ้น KKP , SCB  , BANPU, COM7, CPALL, CPF และ EGCO

  

 

จับตาแบงก์เคาะจ่ายปันผลปี 64 ชูยีลด์ 4-6%