ทักษะแห่งอนาคต สำหรับสายงานจัดการลงทุน

01 ก.พ. 2565 | 11:32 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2565 | 18:33 น.

ทักษะแห่งอนาคต สำหรับสายงานจัดการลงทุน : คอลัมน์มันนี่ ดี ไอ วาย โดยณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไรในยุคโลกาภิวัตน์ การปรับตัวให้ทันรับสิ่งใหม่ๆ ดูจะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างมากสำหรับการทำงานในยุคปี 2022 โดยหากมองไปรอบตัวจะเห็นว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางโลกที่ต้องปฏิวัติการทำงานให้เข้ากับ Digital Transformation และวัฒนธรรมการทำงานที่ตัดสินใจโดยอิงข้อมูลเป็นหลัก (Data- Driven)

 

แวดวงบริษัทจัดการกองทุนเองก็มีคำถามว่า บุคลากรรุ่นใหม่ ที่ต้องการเข้าทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ควรมีคุณลักษณะสำคัญเช่นไร คำตอบที่ได้จากการสำรวจความเห็นผู้บริหารอาวุโสของบริษัทจัดการกองทุนทั่วโลก 250 ท่าน ที่จัดทำโดยบริษัท Accenture พบว่า 95% เห็นพ้องต้องกันว่าภายในปี 2025 สิ่งที่จะสร้างความแตกต่างให้แก่ตัวผู้จัดการกองทุนอย่างชัดเจนได้แก่ ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและข้อมูล

จึงอาจกล่าวได้ว่า ทักษะหลายๆ อย่างที่เคยเรียนรู้ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาจจะเริ่มล้าสมัยและหาทางใช้ได้ยากขึ้นในโลกยุคต่อไป ดังนั้น ความสามารถในการละทิ้งความรู้เดิมและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ (Unlearn and Learn) จะกลายมาเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างมากต่อการทำงาน

ทักษะแห่งอนาคต สำหรับสายงานจัดการลงทุน

 

โดยแท้จริงแล้ว ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมจัดการกองทุนมีสูงมากมาโดยตลอด แต่ปัญหาคือ การจะค้นหาผู้สมัครที่เข้าตา มีคุณสมบัติครบถ้วนนั้น เริ่มหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่า License ต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านการเงินเช่น CFA, FRM จะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนที่ต้องการทำงานในอุตสาหกรรม แต่คุณสมบัติพื้นฐานสำคัญที่บริษัทมองหาเพิ่มเติมคือ ความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี เช่น การเขียนโปรแกรม (Coding), การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysts), และการจัดการงานในส่วน IT Operation ต่างๆ เบื้องต้น

ซึ่งหากชี้เฉพาะลงไปความสามารถในการจัดการระบบอัตโนมัติ (Automation) ระบบปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่อง (AI and Machine Learning) รวมไปถึงสามารถดูแลตรวจสอบระบบเพื่อให้การทำงานถูกต้อง ลื่นไหล ทันต่อเวลา และสามารถตอบคำถามแก่บรรดาผู้ตรวจสอบจากส่วนงานต่างๆ ได้(Regulations)

 

ดังนั้น จะเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความได้เปรียบนั้น จะช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพการทำงาน ลดข้อผิดพลาด เพิ่มความเร็ว และลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากทุกส่วนงานตั้งแต่หน้าบ้านถึงหลังบ้าน (Front-Middle-Back Office) รวมไปถึงงานในฝ่ายการตลาดที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยจับคู่ความต้องการของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีอยู่จำนวนมหาศาล เพื่อเพิ่มยอดขายของบริษัท

 

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างง่าย ใช้ง่าย เข้าถึงง่าย ล้วนเป็นที่ต้องการแก่ทุกบริษัทจัดการกองทุนฯ ในขณะนี้ ดังนั้นบริษัทจึงจำเป็นจะต้องออกแบบกระบวนการทำงานที่คนกับเครื่องจะทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้ใช้ระบบเหล่านี้ก็จำเป็นต้องมีความเข้าใจและประเมินความสามารถและข้อจำกัดของระบบไปด้วยพร้อมๆกันได้ ทำให้ต้องเพิ่มการฝึกอบรมสำหรับพนักงานปัจจุบันให้มีความสามารถควบคุมและใช้งานระบบต่างๆ ได้ร่วมไปด้วย และทักษะที่ดูจะขาดไม่ได้ในเวลานี้คือ การเขียนโปรแกรมด้วยภาษายอดนิยม ได้แก่ Python และภาษาคลาสสิกอย่าง SQL เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

 

สำหรับวุฒิการศึกษา นอกเหนือไปจากการที่จบมาโดยตรงด้านการเงิน, MBA, เศรษฐศาสตร์, สถิติ หรือวิศวกรรมการเงิน ในปัจจุบันบริษัทจัดการลงทุนมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลากหลายสาขา เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม ด้านชีววิทยา ด้านการแพทย์ ฯลฯ ตัวอย่างเช่น กองทุนที่เป็นที่รู้จักอย่างมาก ได้แก่ ARK ก็ได้รับนักวิทยาศาสตร์จรวด (Rocket Scientist) เข้าทำงาน โดยให้ความเห็นว่า การให้ความรู้ด้านการเงินแก่นักวิทยาศาสตร์นั้นง่ายกว่าการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาเรียนรู้เกี่ยวกับจรวด หรือนักวิเคราะห์การลงทุน

 

นอกจากจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์และการเงินแล้ว ท่ามกลางการต่อสู้เชิงอำนาจเพื่อชิงอำนาจนำของผู้นำโลกอย่างสหรัฐและจีน การวิเคราะห์การลงทุนยังควรจะต้องประเมินมูลค่าและความเสี่ยงอันเกิดจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ให้ได้ด้วย (Geopolitical) และสุดท้ายจะต้องสามารถวิเคราะห์การลงทุนโดยบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายสาขาเข้าด้วยกัน

 

จึงเห็นได้ชัดว่าทักษะการทำงานที่บริษัทจัดการลงทุนต้องการแสวงหาเพื่อมาช่วยสนับสนุนการทำงานของบริษัทในยุคต่อไปนั้น จะมีความหลากหลายทั้งทางลึกและทางกว้าง (Cross Disciplinary) แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นต้องมีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือความสามารถที่จะหยิบฉวยนำเทคโนโลยีดิจิตอลในทุกด้านมาใช้เพิ่มศักยภาพการทำงานของตัวเองให้มากที่สุด การเรียนรู้จึงเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบอย่างแท้จริงสำหรับโลกการทำงานในยุคนี้