เงินบาทแข็งค่าผ่านระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาปิดตลาดในประเทศที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ (1563.94 ล้านบาท และ 4,997 ล้านบาท ตามลำดับ)
ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ตลอดจนสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และท่าทีที่มีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของ ECB
ส่วนค่าเฉลี่ย Indicative forward points ของธุรกรรมระยะ 3 เดือนสำหรับผู้ประกอบการที่มีรายได้ 50-200 ล้านบาทต่อปี รายงานข้อมูล ณ 10.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ราคม 2565 โดยธปท. อยู่ที่ -0.81 สำหรับผู้ส่งออก (ขายเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า) และที่ 1.90 สำหรับผู้นำเข้า (ซื้อเงินดอลลาร์ฯ ล่วงหน้า)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์หน้าระหว่างวันที่ 7-11ก.พ.2565 คาดไว้ที่ 32.70-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. (9 ก.พ.) ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมผู้บริโภคเดือนก.พ. (เบื้องต้น) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคบริการและข้อมูลยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนม.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน