การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุตสาหกรรมประกันภัยสั่นสะเทือน จากยอดกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่สูงถึง 44.61 ล้านฉบับ จากบริษัทประกัน 35 แห่งที่เปิดรับประกันภัยกับบุคคลทั่วไป โดยเป็นบริษัทประกันวินาศภัย 26 บริษัทและบริษัทประกันชีวิต 9 บริษัท มีเบี้ยประกันภัย 1.078 หมื่นล้านบาท และมียอดเคลมสินไหมถึง 2.42 หมื่นล้านบาท
โดยเฉพาะการคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบ ที่มีกรมธรรม์รวม 9.64 ล้านฉบับ ซึ่งเป็นของบริษัทประกันชีวิต 5 บริษัทและบริษัทประกันภัยถึง 14 บริษัท จนนำมาซึ่งการสั่งยกเลิกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจของบริษัท เอเชียประกันภัย และบริษัท เดอะ วันประกันภัย และที่กำลังมีปัญหาขอเลิกกิจการคือ อาคเนย์ประกันภัย
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)หรือ MTL ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยว่า ภาพรวมของธุรกิจประกันชีวิตยังมีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนและมีความมั่นคงอยู่ในระดับสูง โดยมีความพร้อมในการจ่ายเคลมสินไหมประกันโควิดที่เข้ามาเป็นปกติ และอยู่ในสภาพที่รับได้ในแง่ของตัวเงิน ซึ่งเป็นความคุ้มครองสุขภาพตามกรมธรรม์ที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างต่อเนื่อง โดยยืนยันธุรกิจประกันชีวิตยังมีความพร้อมในการให้ความคุ้มครองประกันสุขภาพที่มาจากเชื้อโควิด-19 ตามที่สัญญาไว้
ส่วนความท้าทายธุรกิจประกันชีวิตนั้น ยังคงมาจากสินค้าครบกำหนดอายุ แต่ยังมีผลคุ้มครองอยู่ ส่วนใหญ่มาจากสินค้าประกันสะสมทรัพย์ที่ตรึงกับการลงทุนและทิศทางดอกเบี้ยพันธบัตร ซึ่งผลการบังคับใช้ IFRS17 ในปี 2567 จะมีผลต่อการวางนโยบายต่อการขายสินค้าประกันชีวิตในอนาคตอย่างมาก
ส่วนในมิติความพึงพอใจของลูกค้าที่มองจากข้างนอก (Outside-In) ต่อแบบประกันที่ใช่เป็นเรื่องสำคัญมากด้วยเช่นกัน
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจของ MTL ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในทุกมิติ โดยคาดว่า เบี้ยประกันชีวิตรับใหม่จะเติบโต 10% โดยมาจากประกันสุขภาพและโรคร้ายแรงกว่า 10% ประกันชีวิตควบการลงทุน(ยูนิตลิ้งก์) เติบโต 40-50% ประกันชีวิตเติบโต 7-10% และออมทรัพย์ประมาณ 5-7%
บริษัทเน้นไปที่ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง เพราะ 3 กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงคือ
ด้านช่องทางการขายนั้น ตัวแทนกับธนาคารยังเป็นช่องทางหลัก โดยตัวแทนจะเติบโตมากกว่า 20% แต่ต้องปรับตัวเป็นที่ปรึกษาด้านประกันชีวิตหรือที่ปรึกษาทางการเงิน ส่วนช่องทางธนาคารเติบโตกว่า 5% ซึ่ง MTL เป็นพันธมิตรกับ 5 ธนาคารไม่รวมกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)อีกเยอะ ที่สำคัญพยายามขยายช่องทางบริการผ่านดิจิทัลเติบโต 100%
“เราให้ความสำคัญกับการเข้าถึงความคุ้มครองสุขภาพ ที่ยังมีช่องว่างอีกเยอะ จึงพยายามแยกกลุ่มเป้าหมายให้เห็นภาพและแบบประกันขนาดเล็ก ขณะเดียวกันกลุ่มเปราะบางเช่น ผู้สูงอายุ ซึ่ง MTL จะเล่นกับแบบประกันทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนครอบคลุมในหลายด้าน ตั้งแต่ความยั่งยืนของสังคม ผู้เอาประกัน บริษัทประกันเอง ผู้ถือหุ้น และพนักงานด้วย โดยปีนี้ "นายสาระกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทยนั้น ปีนี้จะพยายามหารือกับคปภ.และหน่วยงานรัฐในการให้มีกรมธรรม์บำนาญเพื่อให้ผู้สูงอายุมีเม็ดเงินเพียงพออยู่ได้ต่อเดือนหลังเกษียณอายุ นอกจากเม็ดเงินที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ แบบประกันบำนาญมีอีกหลายมิติที่ต้องขอความช่วยเหลือจากคปภ.และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น คนเกษียณอายุแล้วที่ถูกเทคแคร์โดยกองทุนจะไม่ต้องจ่าย
"เรื่องนี้บริษัทประกันทำได้ในขอบเขต แต่ต้องมีหน่วยงานกำกับในหลายมิติ หรือคนซื้อประกันบำนาญบางแบบอาจไม่ต้องกำหนดอายุ หรือ ขยายอายุ 65 หรือ 70ปีก็ได้ ไม่ใช่อายุ 55 หรือ 60ปี เพราะคนเกษียณเร็วขึ้นและอายุยืนขึ้น นอกจากนี้ถ้าเป็นประกันบำนาญต้องสำรอง 80% และส่วนต่างจะโดนเก็บภาษีด้วย ซึ่งเป็นมิติของรัฐต้องเข้ามาดูแล”นายสาระกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,754 วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565