นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2565 ออมสินตั้งเป้าหมายที่จะจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อประกอบธุรกิจ ปล่อยสินเชื่อที่ดิน และ การรับขายฝากที่ดิน ในรูปแบบ Non Bank รัฐ (นอนแบงก์รัฐ) หรือผู้ประกอบการสินเชื่อที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เพื่อเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่มีที่ดินแต่ยังติดขัดในเรื่องสภาพคล่อง ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้และดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป
เบื้องต้นใช้ทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท โดยออมสินจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน 85% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ออมสินเข้าไปถือหุ้นเกินสัดส่วน 50% และเตรียมดึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจอื่นเข้ามาถือหุ้นในสัดสวนที่เหลืออีก 15% ทั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับ ธปท. แล้ว เตรียมยื่นขอขออนุญาตประกอบธุรกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในส่วนของกระบวนการต่างๆ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 65 เป็นต้นไป และจะเริ่มเปิดให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565
“โมเดลนี้เป็นอีกหนึ่งแนวธุรกิจของธนาคารที่มุ่งไปสู่ธนาคารเพื่อสังคม เป็นการต่อยอดจากโครงการมีที่มีเงิน ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จมาก สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการมีที่มีเงินเฟส 3 จะสิ้นสุดในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งบริษัทที่ตั้งขึ้นมาใหม่จะเข้ามาช่วยดูแลลูกค้าในกลุ่มเดียวกันนี้ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยในอัตราที่ไม่สูงมาก มีความเหมาะสม และไม่กดดอกเบี้ยในตลาดให้ต่ำเกินไปจนทำให้ธุรกิจเดิมอยู่ไม่ได้” นายวิทัย กล่าว
นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วงแรก จะเริ่มเปิดให้บริการสินเชื่อที่ดิน ก่อนจะพัฒนาไปสู่ธุรกิจรับฝากขาย และ จำนองที่ดิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำที่ ประมาณ 8.99% - 9.99% รวมทั้งอนาคตจะขยายไปสู่บริการสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย
ทั้งนี้การพิจารณาวงเงินสินเชื่อที่ดิน จะให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 75% จากราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือ 50% ของราคาตลาด โดยจะเน้นกลุ่มที่ดินที่มีศักยภาพ เช่น ไม่ใช่ที่ตาบอด หรือที่ที่มีการขุดหน้าดินออกไปขายทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจด้วย
ส่วนการขายฝากที่ดินนั้น จะรับขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้วงเงินสินเชื่อที่มากกว่าสินเชื่อที่ดิน เนื่องจากมีต้นทุนในการบริหารจัดการน้อยกว่า รวมทั้งให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาด หรืออยู่ที่ประมาณ 8.99% - 9.99% ทั้งนี้ปัจจุบันมีธุรกิจขายฝากที่ดินจำนวนมาก โดยมียอดเข้ามาจดทะเบียนกับกรมที่ดินเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี