นักวิชาการแนะ แก้สลากแพง ต้องขายออนไลน์ทั้งหมด

14 ก.พ. 2565 | 07:38 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2565 | 15:39 น.

ลุ้นรัฐบาล แก้ปัญหาสลากเกินราคาได้จริง หลังยกเป็นประเด็นร้อน ส่ง 21 ขุนพลเสริมทัพ ด้านสนง.สลากฯ เตรียมออกเกณฑ์เข้ม พบทำผิดเงื่อนไขสั่งตัดโควตาทันที ขณะที่นักวิชาการชี้ ต้นตอรวมชุดทำหวยแพง ต้องขายออนไลน์ทั้งหมด

การแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคาที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ แต่ดูเหมือนยิ่งแก้ ราคายิ่งเพิ่ม โดยเฉพาะหลังมีการนำสลากฯไปขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการกว้านซื้อสลากฯ จำนวนมาก ส่งผลให้ราคาขายส่งพุ่งขึ้นตาม โดยเฉพาะเลขดังราคาพุ่งสูงถึงใบละ 250-350 บาท

นักวิชาการแนะ แก้สลากแพง ต้องขายออนไลน์ทั้งหมด

ปัจจุบันมีจำนวนสลากฯ ออกจำหน่ายงวดละ 100 ล้านใบ ราคา 70.40 บาทต่อใบ แบ่งการจัดสรรเป็น 2 ส่วน คือ 31 ล้านใบจัดสรรให้ระบบตัวแทนจำหน่าย ซึ่งประกอบด้วย สมาคม/องค์กร/มูลนิธิ บุคคลทั่วไปรายย่อย และผู้พิการ และอีก 69 ล้านใบ จัดสรรให้ระบบซื้อ-จองล่วงหน้า แบ่งเป็นสลากซื้อ 40,000 เล่ม และสลากจอง 650,000 เล่ม ซึ่งจะมีผู้ซื้อ-จอง ได้รับสลากไปขาย 138,000 รายทุกงวด จากจำนวนผู้ลงทะเบียน 155,356 ราย

เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมได้ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากฯในราคาเกินกว่าที่กำหนด 21 คน เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการเสนอขายหรือขายสลากฯ ในราคาเกินกว่าที่กำหนด รวมถึงเสนอแนะแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน 

 

ขณะที่คณะกรรมการ (บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาลได้ประกาศ 3 แนวทางแก้ไขการขายสลากเกินราคา คือ

  1. การขยายจุดจำหน่ายโครงการ “สลาก 80” 1,000 จุด อย่างน้อยอำเภอละ 1 จุดทั่วประเทศ
  2. เปิดรับสมัคร ระบบซื้อ-จองล่วงหน้าสลาก ระหว่างวันที่ 1-31 มกราคม 65 ซึ่งพบว่า มีผู้มาลงมากกว่า 1 ล้านราย โดยจะมีการคัดกรองคุณสมบัติหาผู้ค้าตัวจริง ก่อนทำการสุ่มให้เหลือ 200,000 รายตามที่กำหนด
  3. การจำหน่ายสลาก ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยให้ผู้ค้ารายย่อยที่มีโควต้า นำสลากมาฝากขายบนแพลตฟอร์มที่ สำนักงานสลากฯ กำหนดในราคา 80 บาท ซึ่งผู้ค้าจะฝากขายบนแพลตฟอร์มทั้งหมดตามโควตา 5 เล่ม หรือฝากขายบางส่วน และนำส่วนที่เหลือไปเดินขายเองก็ได้ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะเริ่มเห็นตั้งแต่งวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเปิดเผยว่า แนวทางที่ออกมา สนง.สลากฯ จะมีกระบวนการในการตรวจสอบสลากฯอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสลากฯทุกใบจะสามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นของผู้ค้ารายใดและหากพบขายเกินราคา หรือไปขายบนแพลตฟอร์มอื่นที่ไม่ใช่ของสนง.สลากฯ จะทำการตัดโควตาทันที 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

“ในการประชุมบอร์ดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีการกำหนดแกณฑ์คัดกรองผู้ค้าสลากให้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งรูปแบบการตรวจสอบสลากเพื่อป้องกันการขายเกินราคา เชื่อว่า งวดวันที่ 2 พฤษภาคมนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน” นายลวรณ กล่าว 

 

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิตกล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาของสนง.สลากฯ เช่น การฝากขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ แอป “เป๋าตัง” นั้น ยังไม่ใช่ทางออก  แม้ปัจจุบันมีผู้ใช้แอพ “เป๋าตัง” จำนวนมาก แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่ได้ใช้ หรือเข้าไม่ถึงอีกจำนวนมากเช่นกัน และผู้ค้าอาจฝากขายเฉพาะเลขไม่สวย 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต


ขณะที่เลขสวยจะนำไปขายเอง หรือนำไปรวมชุด และขายเกินราคาเหมือนเดิม เช่นเดียวกับการเพิ่มร้าน 80 บาท อำเภอละ 1 จุด ทั่วประเทศ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จะทำให้ผู้ค้าอื่นลดราคาขายลงมาให้เหลือ 80 บาท

 

“ปัญหาหลักที่ทำให้สลากแพง คือ การรวมชุด และเป็นตัวสะท้อนว่า ยังมีรายใหญ่ หรือ วงจรเดิมๆอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป เพราะผลประโยชน์ตรงนี้เยอะมาก เช่น 1 ฉบับได้กำไร 10 บาท เท่ากับว่า 1 งวดจะมีกำไร 1 พันล้านบาท และกลายเป็นไปไล่จับรายย่อยแทนและการมีเลขหน้า 3 ตัว ยังเป็นการทำให้เลขเน่า เป็นเลขที่ขายได้ เป็นการช่วยรายใหญ่ให้ขายสลากฯได้” ผศ.ดร.วิษณุ กล่าว

 

ผศ.ดร.วิษณุแนะว่า ควรปรับรูปแบบการขายให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด ขณะที่รางวัลเป็นรูปแบบ “ล็อตโต้ผสมล็อตเตอรี่” คือ เลขท้าย 2 ตัว และ 3 ตัว ให้ผู้ซื้อกรอกเลขที่ต้องการเอง จ่ายรางวัลแบบหารเฉลี่ยตามวงเงินของรางวัลที่ได้กำหนดไว้ ส่วนรางวัลที่ 1-4 ยังคงใช้รูปแบบล็อตเตอรี่และการจ่ายเงินรางวัลเหมือนเดิม

 

“ต้องปรับการขายเป็นแบบออนไลน์ให้หมด โดยขายผ่านตู้คีออส หรือแทบเล็ต สนง.สลากฯ เป็นผู้ลงทุน และให้ผู้ค้าทำการเช่าซื้อ ไม่ต้องกำหนดจำนวนผู้ค้า ใครอยากขายก็ให้ขาย แต่ต้องเป็นรูปแบบนี้เท่านั้น ซึ่งแนวทางนี้ต้องใช้กับผู้ค้าทุกรายรวมทั้งผู้พิการด้วย”ผศ.ดร.วิษณุกล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,757 วันที่ 13 - 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565