ความร้อนแรงของราคาหุ้นที่ประกาศจะลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องออกมาเตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังก่อนจะเข้าลงทุนในหุ้นดังกล่าว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ได้ออกหนังสือเตือนผู้ถือหุ้นของบริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด(มหาชน) (JTS) ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงกรณีเข้าลงทุนในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์เพิ่มเติม โดยที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเห็นว่า โครงการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงสำคัญที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งผู้ถือหุ้นควรลงมติไม่อนุมัติ
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ JTS เห็นชอบในการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ จำนวนไม่เกิน 6,300 เครื่อง พร้อมระบบไฟฟ้าและระบบที่เกี่ยวข้องอื่นๆรวมมูลค่าไม่เกิน 3,300 ล้านบาท โดยจะขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการประชุมวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
การเดินหน้าธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ของ JTS ที่เริ่มรับรู้กำไรตั้งแต่กลางปี 2564 ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับขึ้นร้อนแรงต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาบริษัทได้จัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์และเริ่มดำเนินการไปแล้วกว่า 300 เครื่อง และตามแผนในปี 2565 บริษัทจะลงทุนเพิ่มเครื่อง ขุดบิตคอยน์อีก 6,300 เครื่อง ใช้งบลงทุน 3,300 ล้านบาท
บริษัทฯ ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์แล้ว 1,800 เครื่อง มูลค่า 741.60 ล้านบาทจากบริษัท พรีเมียม แอสเซท จํากัด (Premium Asset) บริษัทย่อยในกลุ่มบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) (JAS) เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งรายการซื้อขายและการชําระราคาจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ โดยคาดว่า จะสามารถซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ภายในเดือนกุมภาพันธ์ และดําเนินการได้ภายในช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
ส่วนแผนการจัดซื้อเครื่องขุดบิตคอยน์ตามแผนการลงทุนปี 2565 อีก 4,500 เครื่อง มูลค่าลงทุนไม่เกิน 2,558.40 ล้านบาท จะจัดซื้อจากผู้ผลิตโดยตรง คาดจะเริ่มดําเนินการจัดซื้อในช่วงเดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป
JTS ตั้งเป้าหมายการเป็นผู้ประกอบธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์รายใหญ่ในประเทศไทย โดยเชื่อว่าลงทุนเพิ่มในธุรกิจเหมืองขุดบิตคอยน์ ด้วยงบลงทุนกว่า 3,300 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการออกหุ้นกู้ 4,000 ล้านบาท จะช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับทางกลุ่มในอนาคต
กระแสข่าวดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้น JTS ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-14 กุมภาพันธ์ 2565) เพิ่มขึ้น 51 บาท หรือ 23.50% จากราคาปิดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ 217 บาท มาปิดที่ 268 บาทในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แม้ว่าหนังสือเตือนของก.ล.ต.จะออกเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ แต่ก็ไม่สามารถหยุดความรอนแรงได้ เพราะเมื่อราคาเปิดซื้อขายวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ราคาก็ยังทยานไปชนเพดานสวนทางดับดัชนีตลาดหุ้นที่ติดลบ ส่งผลให้มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มขึ้น 57.54 ล้านบาทหรือ 22.64%
ความร้อนแรงของ JTS ยังทำให้มีการเก็งกำไรหุ้นที่มีการลงทุนในธุรกิจขุดเหมืองบิตคอยน์ด้วย ส่งผลให้ราคาเพิ่มขึ้นและมูลค่าการซื้อขายหนานแน่น และอัตราการหมุนเวียนเปลี่ยนมือ(%Turnover ratio) ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและต่อเนื่อง อย่างบริษัท ซิก้า อินโนเวชั่น จำกัด(มหาชน) (ZIGA) ราคาเพิ่มขึ้น 89% ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ย 1,970 ล้านบาทต่อวัน %Daily Average Turnover Ratio อยู่ที่ 44%
ขณะเดียวกัน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาหุ้น ZIGA เพิ่มขึ้น 6.75 บาท หรือ 131.07% จากราคาปิดที่ 5.15 บาทเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์มาปิดที่ 11.90 บาทในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มาร์เก็ตแคป เพิ่มขึ้นถึง 1,560.96 ล้านบาทหรือ 508.72% รวมถึงราคาหุ้นบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) (UPA) เพิ่มขึ้น 51.28% จากราคาปิด 0.39 บาทเป็น 0.59 บาทในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 1,074.77 ล้านบาทหรือ 287.66%
บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เพิ่มขึ้น 0.69 บาท หรือ 38.98% จากราคาปิดที่ 1.77 บาทในวันที่ 7 กุมภาพันธ์มาปิดซื้อขายที่ 2.46 บาทในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ขณะที่มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 1,022.99 ล้านบาท หรือ 2,042.71% และบริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (AJA) ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 0.08 บาทหรือ 12.5% มาร์เก็ตแคปเพิ่มขึ้น 1,951.81 ล้านบาท หรือ 5,289.46% แค่เพียง 7 วัน
นักวิเคราะห์ระบุว่า ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นนักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไรในบริษัทที่ประกาศลงทุนเหมืองขุดบิตคอยน์ เพราะก่อนหน้าก็มีการเก็งกำไรในหุ้นที่ทำโซลาร์ ถัดมาเป็นกัญชง กัญชา แม้จะยังไม่ได้มีการให้ใบอนุญาตรวมถึงรถยนต์ไฟฟ้า แค่เปลี่ยน Story เท่านั้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,758 วันที่ 17 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565