สรรพสามิตยัน ภาษีความเค็มไม่เกิดในปีนี้แน่

19 ก.พ. 2565 | 22:25 น.

สรรพสามิตลั่น ภาษีความเค็มไม่เกิดปีนี้ หวั่นกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ยอมเฉียดเนื้อ ลดภาษีดีเซลลิตรละ 3 บาท รายได้หาย 17,000 ล้านบาท เชื่อเมื่อเศรษฐกิจโตจะทำให้รายได้วกกลับมาในรูปแบบภาษีที่สูงกว่า

หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติอนุมัติปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 3 บาท ความคืบหน้าล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในประกาศกฎกระทรวงแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหากประกาศทันภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ก็จะมีผลบังคับใช้ในทันทีในวันรุ่งขึ้น

 

สำหรับอัตราภาษีน้ำมันดีเซล หลังราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับ จะทำให้เหลืออัตราภาษี ดังนี้ น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถัน เกิน 0.005% โดยน้ำหนัก อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนักอัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.440 บาท 

น้ำมันดีเซลที่มีไบโอ ดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสม ไม่เกิน 4% อัตราภาษีเดิม 6.440 บาท อัตรา ภาษีใหม่ 3.440 บาท  น้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 4% แต่ไม่เกิน 7% อัตราภาษีเดิม 5.990 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.200 บาท และน้ำมันดีเซลที่มีไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันผสมเกิน 7% แต่ไม่เกิน 9% อัตราภาษีเดิม 5.930 บาท อัตราภาษีใหม่ 3.170 บาท

อัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมัน

 รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตระบุว่า การรักษาเสถียรภาพราคาพลังงาน ที่ผ่านมาจะเป็นหน้าที่ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ขณะที่การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจะใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่กองทุนน้ำมันฯทำเต็มศักยภาพแล้ว เพราะหากใช้วิธีลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเลย จะส่งผลต่อรายได้ของรัฐ เพราะหากลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้เดือนละ 2,000 ล้านบาท 

 

การปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลครั้งนี้ สวนทางกับแผนเดิมที่วางไว้ เพราะในช่วงที่มีการประเมินแผนการจัดเก็บรายได้สรรพสามิตจะมีการปรับเพิ่่มภาษีน้ำมัน เพราะขณะนั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์ต่อบาเรล จึงเห็นว่ายังมีช่องว่างพอที่จะปรับเพิ่มภาษีได้ แต่สถานการณ์เปลี่ยนไป จำเป็นต้องปรับลดภาษีลง พร้อมๆกับที่ทางกระทรวงการคลังได้ปรับลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ลง 3 หมื่นล้านบาทด้วย

 

“แผนการปรับขึ้นภาษีน้ำมันเดิมเป็น 1 ในแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งจะมีทั้งที่ปรับเพิ่ม ปรับลด และภาษีใหม่ๆอย่างภาษีความเค็ม แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ปีนี้จึงไม่เหมาะที่จะภาษีใหม่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นภาษีความเค็ม หรือภาษีสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”แหล่งข่าวระบุ 

 

อย่างไรก็ตามภาษีสรรพสามิตเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค หากเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น การบริโภคจะกลับมา ทำให้รายได้จากการจัดเก็บภาษีกลับมาได้ อย่างรายได้หลักของกรมสรรพสามิตมากสุดมาจากภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ ภาษีเบียร์และเหล้า ซึ่งที่ยังตํ่ากว่าเป้าหมายมีเพียงภาษีเบียร์และเหล้าเท่านั้น จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 หากยกเลิกล็อกดาวน์ และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ รายได้ส่วนนี้ก็จะกลับมา

 

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อทำให้ราคาน้ำมันดีเซลลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังติดปัญหาไม่สามารถกู้เงินเพิ่มได้

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต

ดังนั้นการปรับลดอัตราสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในช่วง 3 เดือนนี้ มองว่าเป็นช่วงเวลาที่เพียงพอให้กองทุนน้ำมันฯ ได้แก้ปัญหาทางเรื่องงบการเงินและไปใช้วงเงินกู้ตามที่ครม. ได้อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ ที่ให้ก่อหนี้ได้ในวงเงินไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลล่าสุดคาดว่า งบการเงินของกองทุนน้ำมันฯ จะได้รับการรับรองจาก สตง. ประมาณช่วงเดือนมีนาคมนี้

 

หลังจากนั้นกองทุนน้ำมันฯ จะสามารถเดินหน้าหารือกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อดำเนินการก่อหนี้ได้ทันที แต่หากไม่เป็นไปตามที่วางไว้ เมื่อถึงเวลานั้นก็จะประเมินสถานการณ์ร่วมกันอีกครั้ง

 

“รายได้ส่วนที่หายไปจากการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร ในช่วง 3 เดือนประมาณ 17,000 ล้านบาท เราแลกกับการที่ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ถูกกระทบด้วยต้นทุนทางด้านพลังงานที่สูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลดีในภาพกว้างของเศรษฐกิจ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ กลับมาดำเนินการได้ ท้ายที่สุดก็จะกลับคืนมาในรูปแบบภาษี ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจโต รายได้จากการจัดเก็บภาษีจะโตมากกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว ซึ่งเราหวังว่าภาพนี้จะเกิดขึ้น” นายลวรณกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จะอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนล้านบาทต่อปี จากการใช้น้ำมันประมาณ 2 พันล้านลิตรต่อเดือน คิดเป็นประมาณ 60-70% ของรายได้จากจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันทั้งหมดที่ประมาณ  2 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 65 (ต.ค.64-ม.ค.65) กรมสรรพสามิตมีรายได้การจากจัดเก็บภาษีน้ำมันทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 7.37 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายในปีงบประมาณ 65 ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 2.10 ล้านบาท

 

ขณะที่ผลการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในช่วง  5 ปีย้อนหลังพบว่า ปีงบประมาณ 60  จัดเก็บได้ 2.16 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ  61 จัดเก็บได้ 2.24 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 62 จัดเก็บได้ 2.10 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 63  จัดเก็บได้ 2.24 แสนล้าน ปีงบประมาณ 64 จัดเก็บได้ 2.03 แสนล้านบาท

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,759 วันที่ 20 - 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565