ก.ล.ต.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งการเก็บรักษา การถอนหรือโอนเงินของลูกค้า และการนำทรัพย์สินทั้งเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปจัดหาประโยชน์ให้แก่ลูกค้า เพื่อยกระดับการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีนโยบายที่จะยกระดับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจด้านการคุ้มครองผู้ซื้อขาย โดยให้ทรัพย์สินของผู้ซื้อขายที่เก็บรักษาไว้กับผู้ประกอบธุรกิจมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน รวมทั้งมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ
.
ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนกันยายน 2564 และนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 17/2564 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก.ล.ต. จึงได้ออกประกาศปรับปรุงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเก็บรักษาทรัพย์สิน สรุปสาระสำคัญดังนี้
(1) การถอนหรือโอนเงินในบัญชีที่เปิดไว้เพื่อประโยชน์ของลูกค้า ให้เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจอนุมัติ หลักการมอบอำนาจลงนามแบบหลายบุคคล (multi-sign) และหลักการตรวจสอบถ่วงดุล โดยการถอนหรือโอนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 50 ล้านบาท ผู้ประกอบธุรกิจต้องจัดให้มีผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติการทำรายการ 2 คน และตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ต้องมีเพิ่มอีก 1 คนที่เป็นอิสระทำหน้าที่ตรวจสอบรายการก่อนทำธุรกรรมให้กับลูกค้าด้วย รวมทั้งต้องเก็บเอกสารหลักฐานพร้อมให้ ก.ล.ต. เรียกตรวจสอบได้
(2) ห้ามนำทรัพย์สิน เงินและสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ารายหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของลูกค้ารายอื่นหรือบุคคลอื่นใด และต้องมีการสอบทานทรัพย์สินลูกค้าเพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบันทุกวันทำการ
(3) การนำทรัพย์สินของลูกค้าไปจัดหาประโยชน์ โดยห้ามนำเงินของลูกค้าไปหาดอกผลด้วยวิธีการอื่นนอกจากฝากไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ แต่สามารถตกลงกับลูกค้าเพื่อกำหนดอัตราดอกผลที่จ่ายให้แก่ลูกค้าได้โดยต้องไม่เกินอัตราที่ได้รับจริงจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า ห้ามนำไปหาดอกผล ซึ่งรวมถึงการนำไปฝากและให้บุคคลอื่นยืม เว้นแต่นำไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลโดยผู้ที่มีใบอนุญาตเป็นผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล
ทั้งนี้ การออกประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ ลงราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 โดยได้มีการกำหนดบทเฉพาะกาล ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีระยะเวลาเตรียมการ 3 – 6 เดือน เพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด