นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานเสวนา “อนาคตคริปโต อนาคตไทยแลนด์” จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และฐานดิจิทัลว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ไม่เคยปฏิเสธประโยชน์ของดิจิทัลโดยได้นำหลักคิดและกลไกของบล็อกเชนมาปูพื้นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของตลาดทุนไทย คือ โครงการแนวทางการนำ Distributed Ledger Technology (DLT) เพื่อการออกเสนอขายหลักทรัพย์ การชำระราคา การส่งมอบ ที่เป็นลักษณะที่ใช้บล็อกเชนเข้ามาเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบ ติดตามได้
“แผนพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 4 กระทรวงคลังให้โจทย์มาว่า ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพร่วมกับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะอยากเห็นการใช้ดิจิทัลมาส่งเสริมประเทศ ซึ่ง ก.ล.ต. และเอกชนรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอแผนตลาดทุนร่วมกัน ส่วนเรื่องการแก้กฎหมายหลักทรัพย์ ได้เสนอร่างไปกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างรอกระทรวงคลังพิจารณาความสมบูรณ์ รอบคอบ และจะเสนอครม. ต่อไป”
เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ไฮไลท์เรื่องการปรับเปลี่ยนเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีสภาพคล้ายคลึงกับหลักทรัพย์ หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งทาง ก.ล.ต. ยืนยันว่าจะดึงนักลงทุนโทเคน มาอยู่ในกฎหมาย ซึ่งมีการออกเหรียญระดมทุน ไอซีโอ (ICO- Initial Coin Offering) ไปแล้ว 1 ราย ยังอยู่ระหว่างการรอออกเหรียญระดมทุน ไอซีโออีก 10 กว่าราย เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งโรงแรม เครื่องจักร การเปิดแฟรนไชน์ร้านค้า โดย ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนการใช้กลไกโทเคนดิจิทัล ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ชัดเจน อยู่ในกรอบพัฒนาและดูแลเช่นเดียวกับหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังจัดทำยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต.ในปี 2565 ไปจนถึงปี 2567 มองเป้าหมายไปสู่ความสามารถในการแข่งขันในเรื่อง การสร้างการมีส่วนร่วม (Inclusiveness) และการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีอยู่ 5 ด้านหลักด้วยกัน แต่ที่ให้น้ำหนักมากที่สุดก็คือการทำให้เป็นตลาดทุนดิจิทัล เพราะต้องการจะทำให้ทุกคนเห็นว่า ก.ล.ต.ตอบรับเพื่อส่งเสริมศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งเรื่อง การพัฒนาอีโคซิสเต็ม การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโจทย์นี้จะพูดถึงแลนด์สเคปของสินทรัพย์ดิจิทัล
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาพัฒนา เมตาเวิร์ส (Metaverse) และเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและกำกับตลาดทุน ด้วยการออก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพราะหน้าที่ของ ก.ล.ต.ตั้งแต่ปี 2535 ก.ล.ต.ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรม หน้าที่ถูกกำหนดโดยกฎหมาย ต้องดำเนินการ ต้องรับฟังทุกภาคส่วน พร้อมไปกับความปลอดภัยไซเบอร์ชีเคียวริตี้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานเดียวกันว่ากระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับการสร้างเศรษฐกิจ โดยไม่ให้กระทบระบบการเงินในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตามการลงทุน และการแลกเปลี่ยนในสินทรัพย์ดิจิทัลมาโดยตลอดเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีศักยภาพในการเติบโต และเป็นรากฐานของเทคโนโลยี สำคัญที่ไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีระดับสูงในอนาคต
สำหรับแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัล ได้มีการพิจารณาแนวทางและแนวปฏิบัติของประเทศต่างๆ ที่ได้ดำเนินการแล้วมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบาย การกำกับดูแล การทำธุรกิจ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ลงทุน และผู้ประกอบธุรกิจ โดยยึดแนวทางในการเอาผู้เสียภาษีเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับนักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องจากการถือครอง หรือได้รับผลประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อส่งเสริมการลงทุนและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากนวัตกรรมทางการเงิน”
ประเด็นการจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย โดยจะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ เรื่องของศูนย์การซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange รวมถึงโบรกเกอร์ต่างๆ
และอีกส่วนคือ เรื่องของการระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering) ซึ่งกระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย และก.ล.ต. ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 เรื่องจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหาในทางปฎิบัติที่เกี่ยวกับการชำระภาษีและข้อเสนอต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมาย สร้างความเป็นธรรม และไม่สร้างความยุ่งยาก หรือเป็นภาระให้กับประชาชนและผู้มีเงินได้ โดยจะได้ข้อสรุปจากกรมสรรพากรภายในเดือนมกราคมนี้