คืบหน้าGULF ปิดดีล Binance ร่วมทุนตั้งศูนย์ Digital Asset Exchangeไตรมาส 2/65

02 มี.ค. 2565 | 13:36 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2565 | 21:54 น.

คาด ดีล GULF-Binance ได้ข้อสรุปและจัดตั้งบริษัทร่วมทุน พัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ภายในไตรมาส 2/65 ก่อนยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจDigital Asset Broker และ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล

เจาะงบลงทุน  GULF เตรียมทุ่ม 5 พันล้านบาท ลุยธุรกิจดิจิทัล  คาดบิ๊กดิลบริษัทร่วมทุนระหว่าง GULFและBinance ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล  ได้ข้อสรุปและยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจDigital Asset Broker และ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลได้ภายในไตรมาส 2

 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) คาดว่าจะได้ข้อสรุปและจัดตั้งบริษัทร่วมทุนได้ภายใน 2 ปี 2565  

ก่อนที่จะขอใบอนุญาต (ไลเซ่นส์)ในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) และ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลค (Digital Asset Exchange)  จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาราว 3-5 เดือนในการดำเนินการ

 

ทั้งนี้ในปี 2565 นี้บริษัทได้วางแผลการลงทุนโดยตั้งงบลงทุน 5 ปี (2565-2569) จำนวน 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 75% หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติ 10% หรือ 1 หมื่นล้านบาท ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 10% หรือ 1 หมื่นล้านบาท และธุรกิจดิจิทัล 5% หรือ 5 พันล้านบาท   

 

นอกจากการร่วมทุนกับBinance แล้วในส่วนของธุรกิจดิจิทัล GULF ยังมีโครงการลงทุนใน บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) เพื่อขยายจากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไปยังธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลโดยคาดว่าจะรับรู้กำไรจาก INTUCH ปีละ 4.5-5 พันล้านบาทต่อปี 

 

ลงทุนในธุรกิจศูนย์ปฏิบัติการข้อมูล (Data Center) ร่วมกับ บริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมูนิเคชันส์ จำกัด (Singtel) และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เฟสแรก 20-40 เมกะวัตต์ ก่อนจะขยายเป็น 100 เมกะวัตต์  ในอนาคต โดยจะหนุนรายได้ภาพรวมบริษัทราวๆ70-100 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี

 

โดยในช่วง 3-5 ปีต่อจากนี้ สัดส่วนรายได้ของธุรกิจของบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยธุรกิจไฟฟ้าจะลดลงเหลือ 80% ธุรกิจดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15% และอีก 5% มาจากธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน จากปัจจุบันธุรกิจไฟฟ้ามีสัดส่วนสูงสุดที่ 90%

 

สำหรับภาพรวมผลประกอบการของบริษัทในปี 65 ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ไว้ที่ราว 60% หรือ8.4 หมื่นล้านบาท จากปี 64 ที่มีรายได้ที่  5.2 หมื่นล้านบาท