เริ่มปี 2565 ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมีความเคลื่อนไหวคึกคัก เพราะนอกจากเรื่องการเก็บภาษีคริปโตที่เป็นประเด็นร้อนแล้ว วงการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลก็เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ เริ่มจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีแผนจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในไตรมาส 2 ปีนี้
ล่าสุด “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทย รุกคืบขยายวงเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล โดยส่งบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยไปลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุุ่ม Binance (ไบแนนซ์) เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ของ “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เศรษฐีหุ้นอันดับหนึ่งของไทย ด้วยมูลค่าการถือครองหุ้นกว่า 2 แสนล้านบาท แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ว่า บริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย หลังจากช่วงเดือนกันยายน 2564 บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ผู้ให้บริการสื่อสารใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่ง กัลฟ์ ถือหุ้นอยู่ด้วยได้เข้าร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ในการให้บริการด้านสินเชื่อดิจิทัลด้วย ภายใต้บริษัทใหม่อย่าง “เอไอเอสซีบี หรือ AISCB”
จากโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของไทยที่สดใหม่และมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วใน 2-3 ปีนี้ ทำให้ “สารัชถ์” มองเห็นโอกาสเติบโตสูง แถมการผนึกกับ Binance ตลาดซื้อขายคริปโตที่ใหญ่ที่สุดของโลกครั้งนี้ถือเป็นการเขย่าตลาดคริปโตในไทย ซึ่งปัจจุบันถูกถือครองพื้นที่โดย Bitkub ขณะที่ Binanne ก็กำลังรุกคืบเข้ามาในเอเชียเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา Binance เองได้รับการอนุมัติเบื้องต้นจากธนาคารกลางบาห์เรน ในการให้บริการด้านสินทรัพย์คริปโตในประเทศ รวมถึงร่วมลงนามในข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการค้าของนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย
ด้านนายอรรถกฤต ชิมผลาพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ชื่อ "Bitkub" กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการลงนามลงนทึกความร่วมมือของกลุ่มกัลฟ์ กับกลุ่ม Binance เพื่อร่วมกันศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนั้นไม่มีผลกระทบในระยะสั้นนี้ เพราะเป็นการลงนามเท่านั้น อย่างไรก็ตามถือเป็นเรื่องน่าสนใจที่กลุ่ม Binance มองตลาดไทยว่ามีความสำคัญ และต้องการขยายบริการเข้ามา ซึ่งในการเข้ามาทำให้บริการในไทยนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย
"ส่วนตัวไม่อยากให้อุตสาหกรรมนี้ตกอยู่ในมือต่างชาติ หน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณาดูว่าขณะนี้ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมหรือยังในการแข่งขันกับผู้ให้บริการต่างประเทศที่มีความพร้อมทั้งระบบอีโคซิสเต็มส์ และเงินทุน"
ส่วนนายพีรเดช ตันเรืองพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Upbit Thailand) ในฐานะของประธานสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การลงนามความร่วมมือศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange)และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ของกลุ่มกัลฟ์ และ Binance เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจว่าเป็นอย่างไร
ทั้งนี้มองว่าหากสามารถดำเนินการศูนย์ซื้อขายดิจิทัลในไทยได้จริง นักลงทุนจะหายไปจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทยมากกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตามโจทย์ที่ยากสุดในการให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล คือการขอใบอนุญาตจาก คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งระหว่างนี้มองว่าผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ต้องเร่งขยายฐานลูกค้าให้มากสุด โดยต้องมีการแข่งขันทั้งค่าธรรมเนียมการเทรดเหรียญ หรือ ค่าธรรมเนียมการฝากเหรียญหลายประเภท
ด้านนายปรมินทร์ อินโสม ผู้ก่อตั้ง และกรรมการ บริษัทสตางค์โปร จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กล่าวว่า Binance มองหาโอกาสเข้าตลาดไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เลือกพาร์ทเนอร์ ซึ่งล่าสุดคือกลุ่มกัลฟ์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่พลังงาน ที่ต้องการขยายธุรกิจไปสู่เทคคอมพานี
ปกตินักลงทุนไทยเกินครึ่งนิยมเทรดบน Binance อยู่แล้ว แต่ใช้กระเป๋าเงินในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เป็นช่องทางนำเงินเข้า-เงินออก ถ้าหาก Binance เข้ามาจริง น่าจะช่วยให้นักลงทุนง่ายในการเทรด เพราะสามารถนำเงินเข้าเงินออกจาก Binance ได้โดยตรง และมีบริการเป็นเนื้อเดียวกัน ที่ง่ายต่อการใช้บริการของนักลงทุน ส่วนค่าธรรมเนียมหากคิดที่ 0.1% เชื่อว่าจะกระทบกับผู้ใช้บริการไทย ที่ปัจจุบันคิดค่าธรรมเนียม 0.22-0.25%
นายปรมินทร์ ได้วิเคราะห์มุมมองที่น่าสนใจว่า หากกัลฟ์ มีการใช้อินฟราสตรักเจอร์ของ AIS ผสานรวม (Synergy) กับบริการ Binance จะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้บริการ 43.7 ล้านคน ซึ่งจะเป็นคนละเกมกับที่ผู้ให้บริการศูนย์สินทรัพย์ดิจิทัลไทยเล่นอยู่ในปัจจุบัน
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตื้ ระบุว่า ความร่วมมือระหว่างกัลฟ์กับ Binance นั้นเป็นการก้าวสู่ Megatrend ที่ค่อนข้างดี เพียงแต่ด้วยราคาหุ้นที่ขึ้นมาแรง ประกอบกับ Valuation ของตัวหุ้นที่อยู่ในระดับสูงแล้ว จึงมองว่าอาจมีความเสี่ยงที่ตัวหุ้นอาจจะเจอแรงขาย Sell on fact ได้เช่นกัน ส่วนประเด็นที่น่าติดตามต่อไปคือ มุมมองของหน่วยงานกำกับต่อดีลดังกล่าวและความคืบหน้าด้านมาตรการที่ยังอ่อนไหวอย่างเช่นการจัดเก็บภาษีต่างๆ
ส่วน บล.เอเชียพลัสระบุว่า ดีลดังกล่าวช่วยเปิดโอกาสให้สามารถขยายธุรกิจไปสู่สินทรัพย์ดิจิทัลด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ในอนาคต และถือเป็นการผนึกความแข็งแกร่งจากทั้ง 2 บริษัท โดยกัลฟ์มีประสบการณ์และความชำนาญในการพัฒนาและบุกเบิกธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศ ขณะที่ Binance มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ และมีปริมาณการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลก
“ถือเป็น sentiment เชิงบวกในระยะยาวที่จะช่วยต่อยอดฐานกำไรในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของ GULF ได้ในอนาคต โดยรวมน่าจะเป็น Sentiment ที่ดีต่อราคาหุ้น เช่นเดียวกับหุ้นอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจคลิปโต ในช่วงที่ผ่านๆ มา อย่างไรก็ดีการเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวของกัลฟ์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษา และยังไม่ได้มีการลงทุนใดๆ ซึ่งถือว่าต้องใช้เวลา และยังไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในปัจจุบัน”