การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ถ้าใจพร้อม มาเรียนรู้วิธีปรับ mind set

07 มี.ค. 2565 | 08:47 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มี.ค. 2565 | 15:48 น.

การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ถ้าใจพร้อม มาเรียนรู้วิธีปรับ mind set : คอลัมน์ Investing Tactic โดยน.สพ. ศราวิน สินธพทอง วิทยากรพิเศษ โครงการ SITUP

Mindset แปลเป็นไทยว่า กรอบความคิด นักลงทุนเก่งๆหลายคนและนักวิชาการในด้านอื่นๆ  ให้ความสำคัญมาก  แต่กลับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก เนื่องจากแต่ละคนก็ให้คำจำกัดความ หรือ คำอธิบายที่ไม่เหมือนกัน และเป็นเรื่องของจิตใจที่ต้องปรับให้เข้ากับวิธีการ และต้องสู้กับนิสัยและความเคยชินดั้งเดิมของตัวเอง 

 

โดยสรุปให้เข้าใจง่าย  การฝึก mind set ก็คือ การปรับนิสัยและทัศนคติของตนเอง   เพื่อให้เข้ากับระบบการลงทุน การดำเนินชีวิตของตนเอง  ซึ่งนักลงทุนมีทางเลือกในเบื้องต้นคือ ปรับระบบการลงทุนให้เข้ากับตัวเอง  และ ปรับนิสัยตัวเองให้เอื้ออำนวยกับธรรมชาติระบบการลงทุนนั้นๆ

ในฝั่งของการปรับ mind set หรือ สร้าง mind set นั้น ขั้นตอนที่แนะนำมีดังนี้

  • รู้จักตัวเอง หรือ รู้เรา เป็นอีกเรื่องที่ไม่ง่ายที่จะมองตนเองตามความเป็นจริง  เพราะมนุษย์โดยปกติมักมีความลำเอียง ( Bias ) เพื่อสร้างความมั่นใจของตัวเอง ทำไปอย่างอัตโนมัติ   และใช้ชีวิตในลักษณะนี้มาอย่างยาวนาน โดยไม่เคยสังเกตถึงข้อดีข้อเสียของพฤติกรรมต่างๆ     การศึกษานิสัยดั้งเดิมของตนเองว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง จึงอาจทำได้โดยสังเกตตัวเอง  จดบันทึก หรือ สอบถามจากคนสนิท แล้วเก็บข้อดีที่เป็นประโยชน์เอาไว้  

การลงทุนเป็นเรื่องง่าย ถ้าใจพร้อม มาเรียนรู้วิธีปรับ mind set

การเล่นเกมส์ การทำกิจกรรม  สร้างสถานการณ์สมมติ ก็สามารถเราทำให้เราเห็นจุดบอดง่ายขึ้น การทำแบบทดสอบบุคลิกภาพต่างๆ เป็นอีกวิธีที่ทำให้สามารถค้นหาตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น และทำให้แยกความแตกต่างในลักษณะที่เราเป็นและลักษณะของคนอื่นได้ด้วย   ซึ่งในขณะที่ทำ  สิ่งที่ต้องแยกแยะให้ได้คือเวลา ต้องแยกให้ได้ว่า ตัวจริงเรานั้นเป็นอย่างไร  และอุดมคติที่เราอยากให้เราเป็นนั้นเป็นอย่างไร เพราะจะสับสนได้ง่ายว่า เราเป็นแบบนั้นแล้ว  หรือกำลังจะเป็นแล้ว

เราอาจสามารถอ้างอิงนิสัยส่วนตัวมาเทียบกับนิสัยในการลงทุนได้  เช่น  เป็นคนเข้าถึงสถานการณ์และปรับตัวได้เร็ว  ตั้งสติได้เร็ว ปล่อยวางได้เร็ว ไม่คิดเล็กคิดน้อยอาจดูห้วนๆ เมื่อดูจากบุคลิกทั่วไป แต่อาจเหมาะกับการ เทรดในแทบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเทรดเร็ว เพราะมีนิสัยเดิมเอื้ออำนวยมาอยู่แล้ว  

 

ขณะที่คนอีกแบบที่ต้องพยายามทำให้ครบขั้นตอน รู้สึกไม่ดีถ้าทำงานผิดขั้นตอน ซึ่งอาจเนื่องจากรายละเอียดอาชีพที่ทำอยู่ก็อาจลงทุนในแบบที่ช้ากว่าแล้วสบายใจกว่า แต่ก็อาจแลกมากับผลตอบแทนที่น้อยลงด้วย  หรือการเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากเกินไปทำให้เชื่อคนง่ายลงทุนตามคนอื่น ไม่เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงด้วยตัวเอง  คล้อยตามคนอื่นง่ายไม่เกิดความรู้ความคิดเป็นของตัวเอง  ก็เป็นตัวอย่างที่จะต้องเก็บมาเพื่อหาสาเหตุและปรับปรุง   เมื่อเราทราบนิสัยของตัวเองแล้วก็นำข้อเสียมาปรับปรุง

 

  • ปรับปรุงวิธีการคุยกับตัวเองและสิ่งต่างๆ โดยปกติเวลาเรานึกคิด ก็มักจะมีการพูดกับตัวเองเป็นประจำอยู่แล้ว ในกรณีที่เราจะฝึกให้เกิดนิสัยที่เอื้อประโยชน์ต่อความสำเร็จ(Growth Mindset) และต่อการควบคุมอารมณ์ของเรา เราอาจต้องจดเป็นข้อๆ เพื่อซักซ้อมและฝึกฝน   เช่น   เวลาตกใจ “เฮ้ยซวยแล้ว”  พยายามปรับเป็น ได้ “โอกาสเรียนรู้ปัญหาใหม่มาแล้ว” 

 

หรือ เวลาที่ได้กำไรมากๆ หรือชนะต่อเนื่อง แล้วดีใจมากจนเกิดปัญหา เช่น มั่นใจจน overtrade  หรือ  ยึดติดกับความสำเร็จแล้ว จิตตกเวลาที่ทำไม่ได้เหมือนเดิม  อาจต้องพยายามคุยกับตัวเองเวลาดีใจว่า  เพราะเรามั่นคงในวิธีการ(process) ซึ่งเราวางแผนไว้ใน method  ความสำเร็จจึงเกิด อย่าเพิ่งให้ความสำคัญกับ (result) ในระยะสั้นมาก  และต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะถึงเป้าหมายหลัก เป็นต้น 

 

ในขณะที่การพูดกับผู้อื่นและให้นิยามสิ่งอื่นๆก็จะเป็นไปในทางปรับมุมมองในแง่มุมที่ดี เช่น การลงทุนคือการทำงาน (ไม่ใช่บอกว่า”เล่นหุ้น”เพราะเราจะไม่ตั้งใจ) และการทำงานคือ การทำความดีต่อตัวเองและคนรอบตัว    การมองชีวิตผู้อื่นแบบเปิดกว้างเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ปรับปรุงมุมมองได้ เพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ความนึกคิดแบบอื่นที่ไม่เหมือน ที่เราเป็นและเอามาใช้ประโยชน์ 

 

หรือ ลดอัตตาตัวตน และลดผลกระทบจากคนอื่นที่อาจมีต่อเรา เห็นคนสำเร็จ ดีใจด้วย คิดถึงความลำบากอดทนมาก่อนของเขา ไม่ใช่อิจฉา  เมื่อเห็นคนกำลังแย่ก็นำข้อเสียของเขามาวิเคราะห์  ไม่ใช่ทับถมนินทา ซึ่งลดโอกาสที่ปัญหานั้นจะวนมากดดันตัวเองเมื่อเราอาจต้องอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ บ้าง เป็นต้น

 

  • ฝึกวางแผนงานอย่างเป็นลำดับขั้นตอน (Flow chart) โดยรอบคอบเท่าที่ข้อมูลจะมี   เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องตามแผน ไม่วิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากจนเกินไป อยู่ในการควบคุมได้ จะให้ความรู้สึกเชิงบวก และอยากทำมันอย่างต่อเนื่องมากกว่าความรู้สึกเจ็บและกลัวจากความไม่รู้หรือสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ 

 

อีกทั้งยังวางแผนล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นว่าจะทำเช่นไร ( worst case scenario) เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป   เมื่อเราทำได้ดีก็อย่าลืมให้รางวัลหรือ ชื่นชมตนเอง ที่ทำได้ดีบ้าง เพื่อให้สมองจดจำ ความคิดเชิงบวก และเปลี่ยนเส้นทางจากความคิดเชิงลบไปเรื่อยๆ ซึ่งจากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ได้ทำการทดลองถึงการเปลี่ยนของเส้นประสาท และ ถึงระดับเซลล์ พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของระบบประสาทที่เกิดขึ้นจริง

 

  • ตรวจสอบผลการฝึกเป็นระยะ หลังจากและวางแผนการลงทุนและกำหนด mindset ที่ต้องการจะเปลี่ยนไปเป็นได้แล้ว จะนำโจทย์นั้นไปสู่การกำหนดเงื่อนไขหรือ กฎของตัวเองเพื่อแก้ไขข้อไม่ดีเป็นเรื่องๆไป  ซึ่งการแก้ไขนั้น อาจลงรายละเอียดในระยะสั้น  กลาง  ยาว ซึ่งแน่นอนว่า การเปลี่ยนนิสัยก็ต้องใช้เวลาเช่นเดียวกับการลงทุน และจะนานแค่ไหนก็อยู่ที่ต้นทุนของอุปนิสัยของแต่ละบุคคลเช่นกัน วางวิธีการตรวจสอบผลของการฝึกในแต่ละระยะเพื่อประเมินผล  และปรับปรุงวิธีการฝึก   ก็จะเป็นการเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ไปในทางเดียวกันกับการลงทุน และ การใช้ชีวิต  อย่างเป็นระบบในระยะยาว

 

จะเห็นได้ว่าการปรับ mind set ก็คือการปรับนิสัย และ ความรู้สึกภายในให้เป็นไปในทางเดียวกับ การปฏิบัติงาน  กิจวัตรประจำวันภายนอก  เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดี ความสุข  และทำได้ในระยะยาว ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของสติ สัมปชัญญะ  การระลึกได้ว่าต้องทำอะไรถัดไป, รู้ว่าตอนนี้เป็นอะไร, ทำอะไรถึงไหนแล้ว  และต้องมีสมาธิตั้งมั่น ทำเป็นเรื่องๆไป ซึ่งจะมีประสิทธิภาพกว่าการทำงานสลับไปมา  

 

ดังนั้นการฝึกสมาธิก็เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในวิธีการทั้งหมด  ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะมีส่วนช่วยร่นระยะทางในการประสบความสำเร็จของทุกท่าน

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,763 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2565