ถาม - ตอบ ทำไม 'คริปโต' ไม่เหมาะนำมาใช้แทน 'เงิน'

11 มี.ค. 2565 | 10:42 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2565 | 17:53 น.

ธปท. รวมคำตอบ ทำไม 'คริปโตเคอร์เรนซี' หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ไม่เหมาะนำมาใช้เป็น 'เงิน' เตือน ระวังสูญมูลค่า ผันผวนสูง และ เสี่ยงต่อเศรษฐกิจ พร้อมเปิดแนวทางกำกับดูแล การนำ 'คริปโต' มาใช้ซื้อขายสินค้า และบริการ จริงหรือ ที่หน่วยงานรัฐปิดกั้น ?

11 มีนาคม 2565 - การนำ สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ ที่รู้จักกันในนาม 'คริปโตเคอร์เรนซี่ (Cryptocurrency)  'มาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังคงเป็นกระแสร้อนแรงสำหรับภาคธุรกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาระบุล่าสุด โดยชี้แจงในหลายประเด็น ว่า การใช้คริปโต แทน เงินสด จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง ?

บทบาทของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต สื่อกลางซื้อ-ขาย

ธปท.ระบุว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า

 

ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน 

 

ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

ถาม - ตอบ ทำไม \'คริปโต\' ไม่เหมาะนำมาใช้แทน \'เงิน\'

ถาม-ตอบ แนวทางการกำกับดูแลการใช้คริปโตฯ เพื่อชำระสินค้าและบริการ 


1. การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ (Means of Payment: MOP) จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชน และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจอย่างไร

 

คำตอบ : หากมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็น MOP ในวงกว้าง จะมีความเสี่ยงต่อผู้เกี่ยวข้องในมิติต่าง ๆ ดังนี้

 

  • ผู้ใช้หรือรับชำระสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจมีความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าคริปโต ซึ่งทำให้ยอดใช้จ่ายของผู้ใช้หรือรายรับของ
  • ผู้รับชำระมีความไม่แน่นอนสูง แม้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมีบริการที่ช่วยแลกสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเงินบาทก่อนส่งมอบแก่ร้านค้า แต่ยังอาจมีต้นทุนแฝง เช่น ค่าธรรมเนียมในการแปลงสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อป้องกันความผันผวน ที่อาจเก็บจากผู้ใช้หรือผู้รับชำระได้
  • ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีโอกาสที่ผู้ใช้บริการจะถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ เกิดการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล หรือระบบหยุดชะงักทำให้เสียโอกาส
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมาย ด้วยลักษณะของสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถโอนหรือรับโอนจากกระเป็นส่วนตัว (private wallet) ที่ผู้ใช้บริการไม่ต้องพิสูจน์ยืนยันตัวตน จึงมีโอกาสที่สินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกใช้เพื่อการฟอกเงิน และเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนทางการเงินให้กับการก่อการร้าย รวมถึงการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต่าง ๆ 

 

2 . เสถียรภาพระบบการชำระเงิน

หากคริปโตเคอร์เรนซี่ ถูกนำมาใช้เพื่อชำระค้าสินค้าบริการอย่างแพร่หลาย อาจส่งผลต่อการดูแลระบบ การชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย

  • สินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีสาธารณะแบบกระจายศูนย์ (public blockchain) ทำให้ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลและไม่มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยไว้หากเกิดปัญหา ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครอง
  • ยังทำให้มีระบบการชำระเงินหลายระบบ (fragmentation) และซ้ำซ้อน อาจสร้างความสับสนหรือทำเกิดต้นทุนหากผู้บริโภคต้องใช้หลายระบบทำให้ต้นทุนการชำระเงินโดยรวมของประเทศสูงขึ้นและส่งผลต่อเนื่องมายังการพัฒนาเศรษฐกิจการเงินด้วย

 

3. เสถียรภาพทางการเงิน และความสามารถในการดูแลภาวะการเงินของประเทศ

  • การเกิดหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) หรือหน่วยการตั้งราคาที่นอกเหนือจากสกุลเงินบาท จะเป็นต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนและธุรกิจ จากการแลกเปลี่ยนไป-มาระหว่างสกุลต่าง ๆ
  • นอกจากนี้ ความต้องการถือครองสกุลเงินบาทที่ลดลง จะลดทอนประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายการเงิน ในการดูแลระดับราคาสินค้า รวมถึงลดความสามารถของ ธปท. ในการดูแลให้ภาวะการเงินสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา
  • นอกจากนี้ หากเกิดวิกฤตสภาพคล่องในประเทศ ธปท. จะไม่สามารถเข้าช่วยเหลือด้าน
  • สภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินต่างๆ ในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบาทได้
  • มุมมองความเสี่ยงข้างต้นสอดคล้องกับมุมมองของผู้กำกับดูแลในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้และมาเลเซีย โดยที่ผ่านมา มีบางประเทศจำกัดการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในขอบเขตเพื่อการลงทุนเป็นหลัก เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่หลายประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาการกำกับดูแลที่เหมาะสมเช่นกัน

 

4.แนวทางนี้สะท้อนว่าหน่วยงานภาครัฐไม่สนับสนุนอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่

 

คำตอบ :  ประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแลฯ กังวล คือ ความเสี่ยงจากการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ชำระค้าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายที่กล่าวถึงข้างต้น ขณะที่ระบบชำระเงินปัจจุบันของไทยมีประสิทธิภาพสูงอยู่แล้ว ทำให้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในการชำระค้าสินค้าและบริการไม่ได้เพิ่มประโยชน์มากนักให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ

 

อย่างไรก็ดี ธปท. และ ก.ล.ต. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีต่าง ๆ เบื้องหลังสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น blockchain และให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อต่อยอดนวัตกรรม และไม่ได้ปิดกั้น การนำคริปโตมาใช้ในการลงทุน สะท้อนจากการที่ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่มีกฎหมายรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดย ก.ล.ต. เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้เหมาะสม และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะที่ ธปท. เป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่เริ่มพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อใช้ต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน และ
ส่งเสริมการพัฒนาบริการทางการเงินใหม่ ๆ เช่น 

  • การจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านเทคโนโลยีblockchain 
  • การออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้blockchainเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการเงินด้วย

 

ที่มาและรายละเอียดเพิ่มเติม : แนวทางกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลล่าสุด