พร้อมเพย์ฮอต ยอดโอนพุ่ง 1.13 แสนล้านบาท

14 มี.ค. 2565 | 09:22 น.
อัปเดตล่าสุด :14 มี.ค. 2565 | 16:22 น.

พร้อมเพย์ฮอต มูลค่าโอนพุ่ง 1.13 แสนล้านบาทต่อวัน จากยอดลงทะเบียนรวม 68.6 ล้านเลขหมาย ธปท.เดินหน้ายกระดับทำธุรกิจดิจิทัลครบวงจร เพิ่มประสิทธิภาพภาคธุรกิจ ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน NDID เดินหน้าเฟส 2 ยืนยันตัวตนบุคคลนิติบุคคล

โครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินรายย่อยของประเทศไทย ภายใต้ระบบพร้อมเพย์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่สังคมการชำระเงินที่ทันสมัย ลดการใช้เงินสด ยกระดับคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน ระบบพร้อมเพย์ ยังเป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้การใช้ธุรกรรมออนไลน์ของภาคธุรกิจและประชาชนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

พร้อมเพย์ฮอต ยอดโอนพุ่ง 1.13 แสนล้านบาท

ล่าสุดยอดการลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์ ณ สิ้นปี 2564 มีทั้งสิ้น 68.6 ล้านเลขหมายเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนและเพิ่มขึ้นถึง 84.91% จากช่วงเริ่มต้น มีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ย 36.2 ล้านรายการต่อวันเพิ่มขึ้น 79.4% จากปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นถึง 5,933.33% จากช่วงเริ่มต้น มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 1.13 แสนล้านบาทต่อวนัเพิ่มขึ้น 51.6% จากปีก่อนหรือ 4,795.65% จากช่วงเริ่มต้น   

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ระบบพร้อมเพย์ที่เริ่มให้บริการในปี 2560 ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความสะดวกรวดเร็ว และค่าบริการถูกลงมาก มูลค่าเฉลี่ยในการทำธุรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงพฤติกรรมผู้ใช้บริการที่ทำธุรกรรมพร้อมเพย์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

 

ทั้งนี้ จากสถิติข้อมูลพร้อมเพย์สิ้นปี 2564 มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อวัน 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่เฉลี่ย 7.43 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดยมีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ย 3.62 หมื่นล้านรายการต่อวัน โดยพบว่า มูลค่าธุรกรรมเฉลี่ยต่อรายการเฉพาะรายการที่ต่ำกว่า 5,000 บาท มีราว 90% ของธุรกรรมทั้งหมด

นอกจากนั้น ธปท.มีแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินใหม่ และผลักดันโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ให้รองรับโลกการเงิน ในกระแสดิจิทัล ภายใต้ทิศทางและแผนพัฒนาระบบการชำระเงินไทยปี 2565-2567 ได้แก่

 

  • โครงการ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินที่ยกระดับการทำธุรกิจดิจิทัลแบบครบวงจร โดยปรับใช้มาตรฐานสากล ISO20022 ให้รองรับการรับส่งข้อมูลการชำระเงินพร้อมกับข้อมูลการค้าและภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและศักยภาพการแข่งขัน

 

  •  ผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งานโครงสร้างพื้นฐาน National Digital ID (์NDID) ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สพธอ. และเพิ่มการใช้ Digital Signature ในบริการทางการเงินและการชำระเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทางเลือกในการชำระเงิน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับทุกภาคส่วนและยกระดับการแข่งขันของประเทศ

 

นอกจากนี้ ธปท.อยู่ระหว่างการดำเนินการเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางสำหรับรายย่อย(Retail CBDC) ที่เพิ่มทางเลือกในการชำระเงินให้กับทุกภาคส่วนและสามารถต่อยอดนวัตกรรมและบริการทางการเงินใหม่ๆในยุคเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัล

 

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานปี 2564 NDID มีการใช้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนบุคคลธรรมดาผ่าน NDID แล้วมากกว่า 9 ล้านรายการ ผ่านผู้ให้บริการกว่า 100 หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน

พร้อมเพย์ฮอต ยอดโอนพุ่ง 1.13 แสนล้านบาท

 

สำหรับปี 2565 NDID จะขยายขอบเขตการให้บริการสู่เฟสที่ 2 คือ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนนิติบุคคล ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกการทำธุรกรรมของบริษัท ห้างร้านต่างๆ เข้าสู่กระบวนการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และในเฟส 3 จะพัฒนาสู่ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนชาวต่างชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและติดตามความคืบหน้าในด้านต่างๆ ตลอดจนการรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงการทำงานของ NDID ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ล่าสุด ยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ Master Card ซึ่งมี Digital ID Platform ระดับโลก เพื่อร่วมกันศึกษาการเชื่อมต่อสองแพลตฟอร์ม และเปิดมิติใหม่การให้บริการ Digital ID ทำรายการข้ามระหว่างประเทศ หรือ Cross Border Digital ID โดยคาดว่าจะสามารถเชื่อมต่อแพลตฟอร์มได้ภายในปีนี้ และนำร่องให้บริการในประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก่อนจะขยายไปประเทศอื่นๆ ต่อไป

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,765 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2565