ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.62 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า" ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.54 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทอาจมีโอกาสอ่อนค่าลงและผันผวนในกรอบกว้าง หลังผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้ง ตลาดก็เริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ หลังจากล่าสุดนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายทั้งหุ้นและบอนด์อยู่ อนึ่ง เราเริ่มเห็นว่า แรงเทขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเริ่มลดลง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บอกได้ว่า บรรดาผู้เล่นต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไรเงินบาทก่อนหน้า ได้ปิดสถานะถือครองไปเกือบหมดแล้ว ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดแรงเทขายบอนด์ระยะสั้นที่รุนแรงไม่มากนัก และหากสถานการณ์สงครามเริ่มคลี่คลาย ทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มชัดเจน ก็อาจเห็นนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทผ่านการกลับมาซื้อสุทธิบอนด์ระยะสั้นได้
ทั้งนี้ ในระยะสั้น เงินบาทยังคงมีแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.60-33.75 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเรายังคงเห็นบรรดาผู้ส่งออกต่างมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ขณะที่แนวรับจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งใกล้กับแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 100 วันและ 200 วัน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.75 บาท/ดอลลาร์
ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวอีกครั้ง ท่ามกลางสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อกว่าคาด อีกทั้งการเจรจาสันติภาพระหว่างสองฝ่ายก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะบรรลุข้อตกลงกันได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดเริ่มกลับมากังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง หลังประธานเฟด Jerome Powell ได้ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% ในการประชุมครั้งหนึ่ง หรือ หลายครั้ง เพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อและสร้างความเชื่อมั่นว่าราคาสินค้าจะกลับมามีเสถียรภาพได้ (Price Stability Target) ถ้อยแถลงดังกล่าวของประธานเฟดได้หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มมองว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยได้ครั้งละ 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน (โอกาสราว 60% จาก CME FedWatch Tool)
แนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด ได้หนุนให้ผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ ที่มีความอ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ย ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -0.4% ส่วนดัชนี S&P500 ปรับตัวลงเล็กน้อย -0.04% โดยมีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Marathon Oil +8.5%, Occidental +8.4% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง จากความไม่แน่นอนของสงคราม
ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ย่อตัวเล็กน้อยราว -0.53% ท่ามกลางแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ของหุ้นในสัปดาห์ก่อนหน้าออกมาบ้าง
อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตามราคาสินค้าพลังงาน อาทิ Eni +2.9%, Enel +1.1% จากความไม่แน่นอนของสงครามและผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจยุโรปทำให้เราคงมุมมอง wait and see สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน แม้ว่า ในเชิง valuation ตลาดหุ้นยุโรปจะอยู่ในระดับราคาที่ถูกแล้วก็ตาม
ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดที่ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 10bps สู่ระดับ 2.29% ทั้งนี้ เราคงมองว่า ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้
โดยเรามองว่า นอกเหนือจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ย การลดงบดุลของเฟด คือ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์ได้ โดยควรจับตาว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะเปิดเผยรายละเอียดหรือให้มุมมองเกี่ยวกับ การปรับลดงบดุลของเฟดอย่างไร อาทิ อัตราการลดงบดุลจะเป็นเท่าใดและเฟดจะมีโอกาสขายตราสารหนี้ออกมาหรือไม่
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 98.50 จุด อีกครั้ง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการเจรจาสันติภาพรัสเซีย-ยูเครน และแรงหนุนจากท่าทีของเฟดที่พร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาทองคำก็สามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,935 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดทองคำควรระมัดระวังแรงขายทำกำไร หากสถานการณ์สงครามคลี่คลายลงชัดเจน โดยแนวต้านสำคัญของราคาทองคำ ที่คาดว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนจะเริ่มทยอยขายทำกำไรคือ โซน 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามสถานการณ์สงครามรวมถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน นอกจากนี้ ควรรอติดตามท่าทีของพันธมิตร NATO ที่มีกำหนดจัดประชุม Emergency Summit ในสัปดาห์นี้ ว่าบรรดาผู้นำชาติพันธมิตร NATO จะมีความเห็นต่อสถานการณ์สงครามอย่างไร
อาทิ จะมีการส่งความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครนเพิ่มเติมหรือไม่ รวมถึง จะมีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียที่รุนแรงหรือไม่ ทำให้ เรามองว่า สถานการณ์สงครามและการเจรจายังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้
และนอกเหนือจากภาวะสงคราม ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อติดตามมุมมองต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มการปรับนโยบายการเงิน หลังจากที่ประธานเฟดได้ออกมาส่งสัญญาณว่าพร้อมจะเร่งขึ้นดอกเบี้ย หากจำเป็น นอกจากนี้ ตลาดจะรอติดตามมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อประเด็นการปรับลดงบดุลของเฟด ซึ่งเรามองว่าจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบอนด์ยีลด์และตลาดการเงินโดยรวมได้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 2 เดือน (นับตั้งแต่ 11 ม.ค. 65) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินเยน แต่สวนทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ขยับแข็งค่าขึ้น หลังจากที่ประธานเฟดส่งสัญญาณว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าครั้งละ 0.25% ในรอบการประชุมที่เหลือของปี เพื่อสกัดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตลาดเริ่มประเมินความเป็นไปได้ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเฟดเดือนพ.ค.
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.55-33.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางฟันด์โฟลว์ สถานการณ์โควิด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดระดับสูง