นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์โควิด ยังไม่คลี่คลาย มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
จนทำให้หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลัง ยังไม่ได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าว และยังไม่มีการหารือกัน เนื่องจากขณะนี้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ก็ยังคงเหลืออีกกว่า 70,000 ล้านบาท
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ (29 มีนาคม 65) ยังไม่มีการพูดถึงการกู้เงินเพิ่มเติม เพื่อใช้แก้ปัญหาโควิด-19 และเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้ในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท ก็ยังมีเงินเหลืออยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตามหากจำเป็นต้องกู้เงิน ก็สามารถทำได้ เนื่องจากยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถกู้ได้ แต่ต้องดูจังหวะและช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งความจำเป็น ซึ่งกระทรวงการคลังมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง
“พื้นที่กู้เงินยังมี และตอนนี้เราก็ยังสู้กับโควิด และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ก็ต้องดูจังหวะเวลา ต้องประเมินสถานการณ์รายวัน รายสัปดาห์ ซึ่ง ก.คลัง ก็เตรียมเรื่องเงินเอาไว้ หรือ ศึกษาแหล่งเงินเอาไว้รองรับ เช่น การขยายเพดานการก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ของจีดีพี ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่กระทรวงการคลังได้เตรียมไว้” นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวอีกว่า หนี้ของรัฐบาลขณะนี้ เป็นหนี้ที่จำเป็นต้องก่อเพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือประชาชนในภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อประคองให้ประชาชนสามารถอยู่ได้
แต่หลังจากโควิดคลี่คลาย หรือ อยู่ในจุดที่รัฐบาลสามารถรับมือได้ 100% ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือกรกฎาคมตามที่ประเมินไว้ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย และยูเครนสิ้นสุดลง ซึ่งมองว่าสถานการณ์จะไม่ยืดเยื้อและจบเร็วภายใน 1-2 เดือนนี้
ก็จะเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยการเข้าไปดูแลให้กิจกรรม หรือภาคธุรกิจ หรือการลงทุนเดินหน้าได้ เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ให้ประชาชนได้กลับมามีอาชีพมีรายได้
รวมถึงภาคการท่องเที่ยวก็กลับมาได้ปกติ จากการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่จะเริ่มมีความมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น