SCBX จ่อเทรดในตลาด 27 เม.ย.นี้ ปลื้มผู้ถือหุ้น SCB แลกหุ้นแล้วเกิน 90%

05 เม.ย. 2565 | 03:23 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2565 | 10:25 น.

แบงก์ไทยพาณิชย์ (SCB) เผยผู้ถือหุ้น SCB แสดงความจำนงแลกหุ้นเป็น SCBX เกิน 90% พร้อมนำ SCBX เข้าเทรดในตลาดฯ 27 เม.ย.นี้ ตั้งเป้าระยะยาวดัน ธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี เติบโตเป็นธุรกิจหลัก สร้างผลตอบแทนที่สูงและยั่งยืน

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCB  เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ SCBX ว่า อยู่ระหว่างการทำคำเสนอแลกหุ้นระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ กับกลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB X) ในอัตรา 1 ต่อ 1 หุ้น จะแล้วเสร็จสิ้นในวันที่ 18 เม.ย. 2565 ซึ่งมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีผู้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ยินยอมแลกหุ้นกว่า 90%   ขณะที่ ณ ปัจจุบันได้รับทราบว่ามีผู้ถือหุ้นที่มาดำเนินการแลกหุ้นและแสดงเจตจำนงในการแลกหุ้นตามแผนการปรับโครงสร้างในอัตราเกินกว่า 90%แล้ว

 

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำหุ้น SCBXเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกับที่จะถอนหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ วันที่ 27 เม.ย. 2565
 

ด้านนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร SCB กล่าวเสริมว่า ในวันที่ 27 เม.ย.จะเป็นวันแรกที่หุ้น SCBXจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ( SET )  ซึ่งภาวะการซื้อขายในวันนั้นจะกำหนดว่าหุ้นเอสซีบี เอกซ์ที่ผู้ถือหุ้นได้ทำการแลกไปแล้วจะมีมูลค่าเท่าไหร่ ขณะที่จำนวนหุ้นจะเท่าเดิม 

 

หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการโอนธุรกิจตามแผนที่ได้วางไว้ คาดว่าจะขึ้นได้ประมาณกลางปีนี้

 

สำหรับนโยบายการดำเนินงานในระยะต่อไป คือการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจจาก “กลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารไทยพาณิชย์” สู่ “กลุ่มธุรกิจการเงิน เอสซีบี เอกซ์” เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ทั้งเทคโนโลยี และพฤติกรรมของลูกค้า

 

นายอาทิตย์ กล่าวว่า SCBX จะเป็นบริษัทแม่ของกลุ่ม โดยมีวิสัยทัศน์ ในการเป็น “กลุ่มเทคโนโลยีทางการเงินที่น่าชื่นชมที่สุดในอาเซียน” ทำหน้าที่ในการแสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีให้กับกลุ่มบริหารจัดการเงินทุนของกลุ่มให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ยังยืนต่อผู้ถือหุ้นในระยะยาว

 

 

สำหรับโครงสร้างธุรกิจ SCBX จะดำเนินงานภายใต้ 3 ธุรกิจหลัก คือ

 

กลุ่มแรก "ธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ จะยังคงเป็นแกนหลัก โดยจะมีการพัฒนาในเรื่องประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เน้นการสร้างผลกำไร ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเป็นหลัก

 

กลุ่มที่สอง "ธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยและบริการการเงินแบบดิจิทัล” ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก มีอัตราผลกำไรที่สูงอยู่แล้ว จะแยกออกมาจากธนาคาร เพื่อความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ และ

 

กลุ่มที่สาม "กลุ่มธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี” คาดว่าจะมีบทบาทกลายเป็นกลุ่มธุรกิจหลักในระยะยาว

 

นายอาทิตย์ กล่าวว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายธุรกิจสินเชื่อรายย่อยและบริการการเงินแบบดิจิทัล และธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี 2 ธุรกิจนี้จะมีสัดส่วนรายได้รวมกันมากกว่า 30% แต่ในระยะถัดไป ธุรกิจแพลตฟอร์มเทคโนโลยี จะเติบโตกลายเป็นเป็นธุรกิจหลักแทน

 

ทั้งนี้การปรับโครงสร้างใหม่ครั้งนี้ ทำให้มีแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน คล่องตัว และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เฉพาะเจาะจงกับประเภทของธุรกิจต่างๆ ทำให้กลุ่มธุรกิจการเงินเติบโต ระยะยาวแก่ผู้ถือหุ้น

 

สำหรับยุทธศาสตร์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2565 โดยธนาคารไทยพาณิชย์ยังเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มนั้น ในปีนี้ภายใต้การเติบโตที่จำกัดของธนาคาร จึงกำหนดแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์ ไว้ว่า จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นธนาคารที่ดีขึ้นกว่าเดิม เน้นคุณภาพและประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ คือ

 

  • 1 .เน้นการปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น
  • 2.เติบโตธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง และนายหน้าประกันผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้า
  • 3. ขยายการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล เพื่อลดต้นทุนบริการและเพิ่มผลตอบแทน
  • 4,ปรับปรุงธุรกิจบางประเภท เช่น การค้าระหว่างประเทศและการบริหารเงินสดให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุน
  • 5.ลดต้นทุนของธนาคารภาพรวม โดยนำระบบเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานและการบริการให้กับลูกค้า