ทฤษฎี Elliott Wave เป็นทฤษฎีที่อธิบายลักษณะของการขึ้นหรือการลงของกราฟใน 1 Cycle โดยจะประกอบไปด้วย Impulse Wave และ Corrective Wave
ลักษณะของ Impulse Wave มี 5 ขา คือ 1-2-3-4-5
ลักษณะของ Corrective Wave มี 3 ขา คือ A-B-C
ซึ่งทฤษฎี Elliott Wave จะให้ความสำคัญ 3 ส่วน คือ
- รูปแบบคลื่น มีความสำคัญมากที่สุด
- สัดส่วนคลื่น ให้ความสำคัญรองลงมา
- วัฎจักรเวลา ให้ความสำคัญน้อยที่สุด
ในการวางกลยุทธ์ในการเทรดด้วยทฤษฎี Elliott Wave สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้คือ พฤติกรรมในแต่ละ Wave เพื่อวางกลยุทธ์ในการเทรดได้อย่างเหมาะสม
- พฤติกรรมของ Wave 1 เป็นคลื่นลูกแรกหลังตลาดปรับฐานมาจากขาลงครั้งก่อนนั้น การปรับตัวขึ้นจะยังไม่แรงมาก
- กลยุทธ์ที่ใช้ในการเทรด ควรจะเทรดในลักษณะเป็นการออกตามเป้าหมาย เพราะ Wave 1 ส่วนมากยังอยู่ใน Trend ขาลง การขึ้นก็จะขึ้นได้ไม่เยอะ จึงควรพิจารณาการเทรดในรูปแบบของการ Day trade
- พฤติกรรมของ Wave 3 ปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เมื่อเทียบกับ Wave 1 และ Wave 2
- กลยุทธ์ที่ใช้ในการเทรด ควรที่จะต้องมีการเทรดแบบถือระยะยาว (Run Trend) โดยปกติของ Wave 3 จะมีลักษณะของเทรนด์ขาขึ้น (Uptrend) อย่างชัดเจน และสามารถสร้างกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
- พฤติกรรมของ Wave 5 วิ่งเพราะอารมณ์ของตลาดล้วนๆ โดยจะมีเสียงลือ เสียงเล่าอ้างออกมาว่าหุ้นตัวนั้นๆ จะมีราคาที่ขึ้นได้อย่างรุนแรง แต่สุดท้ายก็เป็น Wave สุดท้ายในการขึ้น
- กลยุทธ์ที่ใช้ในการเทรด ควรที่จะต้องมีการเทรดเพื่อออกตามเป้าหมาย เพราะ Wave5 เป็นขาสุดท้ายในการขึ้น เมื่อเป็นแบบนั้นจึงเป็น Wave ที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างสูงในการเทรด สำหรับมือใหม่ ไม่แนะนำให้เทรดใน Wave นี้ เพราะจะมีโอกาสติดดอยได้สูง ส่วนมือเก่า ควรพิจารณาการเทรดในรูปแบบของการ Day trade
- พฤติกรรมของ Wave B นักเก็งกำไรระยะสั้น และนักลงทุนบางกลุ่มยังเชื่อว่าปัจจัยนั้นไม่น่ากระทบกับราคาหุ้นมาก จึงทำการเข้าซื้ออีกครั้ง
- กลยุทธ์ที่ใช้ในการเทรด เนื่องจาก Wave B เป็น Wave ที่อยู่ใน Trend ขาลงแต่มีลักษณะ Technical Rebound การขึ้นของ Wave B จึงขึ้นได้ไม่แรงมากควรที่จะเทรดเพื่อออกตามเป้าหมายและระมัดระวังอย่างสูง พิจารณาในการเทรดในรูปแบบของการ Day trade สำหรับมือใหม่ไม่แนะนำให้เทรด Wave นี้
จากการเรียนรู้พฤติกรรมของแต่ละ Wave จะทำให้เห็นว่ากลยุทธ์ที่ใช้แตกต่างกัน การเลือกให้เหมาะสมย่อมเป็นข้อได้เปรียบ ดังเช่น ปรัชญาจากซุนวู ผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”