วันนี้ (9 เม.ย.) พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดินทางไปเป็นประธานในการจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสลาก 80 และ จะเดินทางไปจัดกิจกรรมแบบเดียวกันนี้ที่จังหวัดอุดรธานี ในวันพรุ่งนี้(10 เม.ย.)
พันโทหนุนกล่าวว่า โครงการสลาก 80 เป็นโครงการที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้วางแนวทางไว้ เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท จากจุดจำหน่ายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยตัวแทนจำหน่ายจะได้รับสลากไปจำหน่ายจุดละ 25 เล่ม หรือ 2,500 ฉบับ ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงานสลากฯ กำหนด การซื้อขายสลากโครงการนี้ ดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และถุงเงิน
ปีนี้ สำนักงานสลากฯ จะกระจายจุดจำหน่ายออกไปในทางกว้าง จำนวนไม่เกิน 1,000 จุด ทั่วประเทศ ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินโครงการในระยะแรกไปแล้วที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี สำหรับระยะที่ 2 ได้ทำการคัดเลือกตัวแทนจำหน่ายในส่วนกลาง ปริมณฑล และภาคกลาง เรียบร้อยแล้ว 151 จุด
สำหรับการเดินทางมาที่บุรีรัมย์ และอุดรธานี ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้รับฟังการชี้แจงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการสลาก 80 และทำการคัดเลือก (Random) กรณีพื้นที่ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการเกิน 1 ราย
ในส่วนของตัวแทนจำหน่ายที่สมัครเข้าร่วมโครงการและร่วมเข้ารับฟังหลักเกณฑ์ในวันนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนจากจังหวัดนครราชสีมามหาสารคาม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ยโสธร สุรินทร์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ รวม 10 จังหวัด จำนวนตัวแทนจำหน่าย 423 ราย
ส่วนวันพรุ่งนี้ ที่จังหวัดอุดรธานี มีตัวแทนจำหน่ายเข้าร่วมกิจกรรม 332 ราย จาก 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย มุกดาหาร กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ขอนแก่น หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี และหลังจากนี้ จะเดินทางไปจัดประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกันนี้ที่ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะสามารถดำเนินโครงการสลาก 80 จำนวนไม่เกิน 1,000 จุด ได้ทั่วประเทศ ภายในงวดวันที่ 16 มิถุนายน 2565
ทั้งนี้ โครงการสลาก 80 เป็นมาตรการหนึ่งในการบรรเทาความรุนแรงของปัญหาสลากเกินราคา โดยมุ่งหมายให้มีจุดจำหน่ายสลากที่มีรูปแบบเดียวกันที่ประชาชนสามารถหาซื้อสลากได้ตามราคาด้วยการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชันจะเป็นการควบคุมการจำหน่ายให้ตัวแทนจำหน่ายขายสลากตามราคาที่กำหนด ซึ่งสามารถตรวจสอบการซื้อ-ขายสลากได้จากระบบแอปพลิเคชัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมนโยบายภาครัฐในด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการซื้อ-ขายสลาก และเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างสำนักงานสลากฯ และ ธนาคารกรุงไทย ด้วย