การดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องมายาวนานถึง 16 ปีนับจากปีงบประมาณ 2550 กำลังสร้างความกังวลให้กับการดำเนินนโยบายการเงิน ล่าสุดอดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแสดงเป็นห่วงภาครัฐที่ปล่อยให้การดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุล เรื่อยๆแบบไม่มีนโยบายที่แน่ชัด กำลังซ่อนสิ่งที่จะเป็นปัญหาระยะยาวเยอะมาก
หนึ่งในตัวอย่างของความล่มสลายทางเศรษฐกิจจากการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ควบคู่กับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จนก่อให้เกิดเหตุจลาจลในประเทศอย่างศรีลังกา แม้ไทยจะยังไม่ได้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เริ่มเห็นการขาดดุลแล้วในปีที่ผ่านมา
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า การเกิดวิกฤตทุกครั้งจะมีการใช้เงิน ทำให้จำเป็นต้องทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตโควิด และในอดีตที่เคยเกิดวิกฤต 2 ครั้งในปี 2540 และปี 2552 แต่ละครั้งก็มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน ซึ่งเงินที่กู้มาก็เป็นภาระของคลังด้วย
เช่นเดียวกับการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเหมือนในอดีต เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่จะปรับลดลงเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
ส่วนเรื่องที่จำเป็นต้องทำและไม่มีการทำเลยในอดีตคือ การปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้จากภาษี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการปรับโครงสร้างภาษี มีแต่การทำนโยบายลดอัตราภาษี เช่น ภาษีนิติบุคคลที่จำเป็นต้องปรับลดลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้น เมื่อลดภาษีเยอะรายได้ของรัฐก็ไม่เข้าเป้า จึงจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายฐานภาษี
“ในอดีต เราไม่ค่อยทำเรื่องนี้ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากการลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนถนนหนทางให้เกิดการเชื่อมต่อกับชนบท ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดได้ ขณะเดียวกันรายจ่ายประจำก็เพิ่มขึ้นสูงไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งปัจจุบันมีเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่ในอนาคตจะมีเพิ่มมากขึ้น ก็เป็นรายจ่ายของงบประมาณแผ่นดินด้วยส่วนหนึ่ง"นายอาคมกล่าว
ดังนั้นจำเป็นต้องปรับโครงสร้างรายได้ภาษี แต่ทุกครั้งที่พูดก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะทุกคนไม่ชอบกระทบต่อโครงสร้าง แต่เป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังต้องทำในช่วงต่อไป
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมามีการประสานกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งด้านการคลังไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว และตั้งงบประมาณขาดดุลลดลงในปีงบประมาณ 66 เป็นการส่งสัญญาณว่า การขาดดุลยังมี แต่จะต้องลดขนาดของการขาดดุลลง
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ไทยมีการทำงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอด มีเพียงแค่ 2 ครั้งที่สามารถทำงบประมาณสมดุลได้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้าง เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต ดังนั้นตราบใดที่เป้าหมายต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตต้องมีงบลงทุน ซึ่งก็คือนโยบายงบประมาณขาดดุล
ขณะเดียวกัน หนี้สาธารณะของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ยังไม่ถึง 70% ตามกรอบเพดานที่ได้ขยายไว้ ปัจจุบันอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพีเท่านั้น จึงยังมีีเพดานที่สามารถดำเนินการได้ และเงินคงคลังก็ไม่มีปัญหา ปัจจุบันมีเงินคงคลังต้นงวดที่ 5.8 แสนล้านบาทและคาดว่า ปลายงวดจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินคงคลังปลายงวดใกล้เคียงที่ 5 แสนกว่าล้านบาท
“ช่วงวิกฤตนโยบายการเงินก็ควรมาช่วยนโยบายการคลังในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ส่วนปัจจุบันนโยบายการเงินจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกหรือไม่นั้น ไม่ขอพูด แต่ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณเล็กๆไปถึงธปท.”นายกฤษฎากล่าว
ขณะที่ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยยังอยู่ในกรอบ ยังสามารถทำมาตรการเยียวยาได้ แต่ไม่ใช่เป็นการหว่านแห่หรือใช้มาตรการเหมือนปีที่แล้ว แต่ต้องใช้มาตรการเฉพาะจุดมากกว่า
ทั้งนี้ ไม่ต้องการเห็นการตรึงราคาสินค้า เป็นการบิดเบือนราคาตลาด โดยเฉพาะราคาน้ำมัน คนไทยไม่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน อาจนำเข้าน้ำมันต่อเนื่องทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง เงินก็จะไหลออกนอกประเทศยิ่งกระทบต่อเสถียรภาพ
“รัฐบาลไม่ใช่ถังแตก แต่เลือกที่จะใช้เงินเฉพาะจุด และสิ่งที่เราคาดหวัง คือความต่อเนื่องของงบประมาณ คาดว่า มาตรการทางการคลังจะขับเคลื่อนและสร้างเสถียรภาพต่างๆหรือรัฐอาจจะหารายได้ โดยการกระจายรายได้และค่อยๆปรับขึ้นภาษีก็จะเห็นมาตรการทางการคลังสนับสนุนเศรษฐกิจไทย” ดร.อมรเทพกล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,773 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2565