นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในปี 2565 นี้ แม้ว่าปัญหาเรื่องค่าระวางค่าขนส่งยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงเช่นกัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย แต่สินค้าเกษตรหลักๆของไทยในปีนี้ ในด้านราคามีทิศทางที่สดใส ได้แก่
ข้าวหอมมะลิของไทย ซึ่งถือเป็นสินค้า premium ที่ไทยส่งไปขายในยุโรป สหรัฐ และญี่ปุ่น ในปีนี้ผลผลิตจะออกมามากพอสมควร แม้ว่าช่วงนี้ผู้บริโภคในต่างประเทศจะมีความกังวลใจในเรื่องสถานการณ์สงครามก็ตาม
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้ มีโอกาสปรับสูงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดการค้ากับซาอุดิอารเบีย ทำให้ซาอุฯ นำเข้าเนื้อไก่จากประเทศไทย ส่งผลดีต่อเกษตรกร
มันสำปะหลังในช่วงสองปีที่ผ่านมามีราคาสูง และยังจะสูงต่อเนื่องในปีนี้ โดยพบว่า จีนมีความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น และจากการที่มันสำปะหลัง สามารถทำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล ยิ่งส่งผลทำให้ความต้องการมันสำปะหลังสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงในช่วงนี้
อ้อย คาดว่าในปีนี้ราคาจะปรับสูงขึ้น เนื่องจากสามารถนำไปผลิตเป็นเอทานอลผสมในน้ำมันได้ ทำให้บราซิล ซึ่งปลูกอ้อยเป็นปริมาณมาก ซึ่งที่ผ่านมา แปรรูปอ้อยเป็นเอทานอลในสัดส่วน 70 % ของปริมาณอ้อยที่ผลิตได้ ส่วนที่เหลือนำไปผลิตน้ำตาล
แต่เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น บราซิลอาจหันมาเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลง และทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลดีต่อราคาอ้อยที่ชาวไร่ขายให้กับโรงหีบอ้อย
เช่นเดียวกับราคาปาล์มน้ำมัน ที่มีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้น เนื่องจากสามารถทำไบโอดีเซลได้ แต่ปัญหาขณะนี้ของปาล์มน้ำมันคือ มีผลผลิตออกมาน้อย
ยางพารา ปัจจุบันสูงกว่าในหลายปีที่ผ่านมา และปีนี้ ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพราะมีการใช้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาน้ำมันมีราคาถูกก็มีการใช้ยางสังเคราะห์มากขึ้น แต่ช่วงนี้น้ำมันแพงจึงหันไปใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ราคายางพาราปรับตัวสูงขึ้น
ดังนั้นในภาพรวมของภาคการเกษตรไทยในปีนี้ GDP ในภาคการเกษตรคาดว่าจะขยายตัวราว 2 % โดยมาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเรื่องของราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงด้วย
ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไทย คาดขยายตัว 3.4 % เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งหลายประเทศในยุโรป เริ่มผ่อนคลาย แต่จีนยังคงควบคุมอย่างเข้มงวด ทำให้สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสส่งออกมากขึ้น
ในส่วนของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น บางช่วง พุ่งเกิน 120 เหรียญฯต่อบาเรล น่าจะเริ่มผ่อนคลายขึ้น เนื่องจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนมีท่าทีการเจรจาเพื่อยุติสงคราม
ทั้งนี้ ธกส.แบ่งพืช เป็น 3 กลุ่ม ตามการฟื้นตัวเร็ว-ช้า หลังจากที่ไทยผ่านพ้นการระบาดใหญ่ของโควิดมาแล้ว โดยกลุ่มพืชที่ฟื้นตัวเร็ว ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน โคเนื้อ ทุเรียน และสัปรด
กลุ่มพืชที่ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางและสามารถฟื้นตัวได้ในระยะไม่เกิน 9 เดือน คือ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15 % ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าว,เปลือกเหนียวนาปี ,ยางพารา กุ้งขาวไดนาไมท์, มังคุด เงาะ ลำไย และกาแฟ และกลุ่มพืชที่น่าเป็นห่วง เพราะฟื้นตัวได้ค่อนข้างลำบาก คือ ลองกอง